Social :



เทคนิคการปลูก และดูแลดอกเยอบีร่า

02 ต.ค. 62 11:10
เทคนิคการปลูก และดูแลดอกเยอบีร่า

เทคนิคการปลูก และดูแลดอกเยอบีร่า

เทคนิคการปลูก  และดูแลดอกเยอบีรา

เยอร์บีรา   เป็นไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมปลูก  เป็นไม้ตัดดอกขาย  ดอกมีหลายสี  เช่น  สีแดง  ส้ม  เหลือง  ชมพู  ครีม  ขาว  และสีปูนแห้ง เป็นต้น มีก้านดอกยาว ปลูกง่าย ให้ดอกตลอดปี ขยายพันธุได้ง่าย

เยอร์บีรามีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ มีอยู่ประมาณ  40  ชนิด (species)  แต่ที่นิยมและรู้จักแพร่หลายมีเพียงไม่กี่ชนิด  เช่น  Gerbera  Jame- sonii,  Gerbera  veridijolia  และ  Gerbera  aurantirca ลักษณะโดยทั่วไปของเยอร์บีรา เป็นพวก  stemless  เป็นไม้ประเภทที่มีอายุนานกว่าหนึ่งปี (perennial  herbs)  ขึ้นเป็นกอ ใบงอกจากตาใต้ดิน  มีสีเขียวแก่ปรกเป็นพุ่ม  ขอบใบเป็นแฉก (lobe) ไม่เท่ากัน บางแฉกก็แคบและตื้น แผ่นใบไม่คลี่กางแต่มีที่ขอบใบทั้งสองข้าง มักจะโค้งงอเข้าหากลางใบเล็กน้อย ทำให้ใบมีลักษณะคล้ายร่องน้ำใต้ใบและก้านใบมีขนบาง ๆ  ละเอียดอยู่ทั่วไป  ดอกของเยอร์บีรางอกออกจากตาตรงส่วนของลำต้น มีก้านดอกเรียวกลม ส่งและชูดอกขึ้นไปอยู่เหนือกอ ทำให้เห็นดอกเด่น และดูสวยขึ้น  ความยาวของก้านดอกประมาณ  20-70  ซม.  ดอกเยอร์บีรามีลักษณะเป็น  head  ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ (ligulate) มากมาย แต่ละดอกจะมีเกสรตัวเมีย (stigma)  อันหนึ่ง  มีลักษณะเป็นเส้นตรงเล็กมาก  ยาวประมาณ  0.5-0.8  ซม.  ตอนปลายนเป็น 2 แฉก สีของเกสรตัวเมียนี้ มีสีเดียวกับกลีบดอกแต่สีอ่อนกว่า  สำหรับเกสรตัวผู้นั้นอยู่บริเวณกลางของดอก  ส่วนมากมีสีเขียวอ่อน  หรือเหลืองอ่อน  ตอนปลายมีตลับเกสร (anther) ซึ่งภายในตลับจะมีละอองเกสร (pollen  grain)  อยู่เป็นจำนวนมาก


เยอร์บีราเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกอีกชนิดหนึ่ง  แม้ว่าราคาซื้อขายค่อนข้างต่ำ  เมื่อเปรียบเทียบกับดอกไม้ชนิดอื่น  แต่มีผู้นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกขายกันมาก  โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอบางกรวย และอำเภอตลิ่งชัน  มีการปลูกผักสลับเบญจมาศ  เยอร์บีรา  เป็นเนื้อที่กว่า  2,000  ไร่  และเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละไม่น้อยกว่า  200  ไร่  ที่นิยมปลูกกันมาก  แม้ว่าจะขายได้ราคาต่อดอกต่ำนั้นอาจเป็นเพราะว่า

1. เยอร์บีราเป็นไม้ดอกที่เรารู้จักมักคุ้นมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว  แม้ว่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ถึงแอฟริกาใต้ก็ตาม  เมื่อมีความคุ้นเคยแล้ว  จึงไม่เป็นการยากในการปลูกปฎิบัติและรักษา

2. ต้นทุนการผลิตต่ำ  เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาน้อยมาก

3. ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมาก เมื่อเทียบกับดอกไม้ชนิดอื่น  แม้ว่าราคาขายต่อดอกถูกมาก  แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือเป็นกำไรทั้งรายได้ไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่นเลย ให้ประมาณ  36  ดอกต่อต้นต่อหนึ่งฤดูปลูก (6  เดือน)

4. เมื่อลงทุนปลูกไปแล้วแต่ละครั้ง  ต้นจะอยู่ให้เก็บเกี่ยวดอกไปได้นานกว่าไม้ดอกชนิดอื่นบางชนิด

5. มีให้เลือกปลูกหลายสีหลายพันธุ์  ตามความนิยมของทั้งผู้ปลูกและผู้ซื้อ  อีกทั้งยังสามารถคัดเลือกให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นอีกด้วย

6. ความต้องการของตลาด  ค่อนข้างจะสม่ำเสมอตลอดปี (หมายถึงตลาดภายในประเทศ) ทั้งนี้เนื่องจากราคาถูก ชนทุกชั้นทุกประเภทสามารถซื้อได้

7. สามารถปลูก  และให้ดอกได้ตลอดปี ทำให้เป็นผลดีกับผู้ปลูกในแง่ที่ว่าจะปลูกในฤดูไหนก็ได้ที่สะดวกที่สุด และจะทำให้ได้ผลผลิตมากที่สุด อีกทั้งต้นทุนในการเตรียมดินและต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด


ดังได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้  จะเห็นได้ว่าการปลูกเยอร์บีราเป็นการค้าในเมืองไทยนั้นไม่เป็นของยากเลย  อีกทั้งไม่ค่อยมีปัญหามากมายนัก  สามารถผลิตได้ตลอดปีในปริมาณที่ไม่จำกัด แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้  เห็นจะได้แก่ราคาที่ค่อนข้างต่ำ ความนิยมใช้ในการจัดกระเช้าหรือใช้ในเทศกาลสำคัญๆ  มีน้อยมาก  ทั้งนี้อาจจะมีสาเหตุหลายประการด้วยกันคือ

1. เนื่องจากเรารู้จักดอกเยอร์บีรามาตั้งแต่เกิดแล้ว จึงทำให้ไม่เห็นเป็นของแปลก ความนิยมจึงเสื่อมไป คนเรามักจะนิยมของแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ ไม่เห่อเหิมใช้แต่ของแปลกของใหม่อยู่ร่ำไป โดยหันมาใช้ดอกเยอร์บีราซี่งมีความสวยงามและสีสันไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่นเลย ก็คงจะช่วยทำให้กิจการค้าดอกเยอร์บีราก้าวไกลออกไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกจะต้องปรับปรุงเยอร์บีราให้มีคุณภาพดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพื่อที่จะเขยิบฐานะความเป็นอยู่ของตัวเองจากดอกไม้หน้าพระไปเป็นดอกไม้ตามร้าน

2. ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพของดอกเยอร์บีราให้ดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะตลาดของเยอร์บีราอยู่แค่ปากคลองตลาด และตลาดสดทั่วไปเท่านั้น ราคาจึงต่ำกว่าดอกไม้ที่ส่งขายตามร้าน ถ้ามีการปรับปรุงคุณภาพของดอกให้ได้มาตรฐานสากลแล้ว เราก็อาจจะส่ง ไปขายตลาดต่างประเทศได้ ในขณะนี้ในวงการค้าไม้ดอกของเรามีข่าวดีว่า เราคงจะส่งไม้ดอกไปขายต่างประเทศได้ ถ้าคุณภาพถึงระดับมาตรฐาน โดยเฉพาะดอกเยอร์บีรา มาตรฐานที่แน่นอนของเยอร์บีรานั้น คงไม่พ้นจากขนาดดอกใหญ่สีสดใส ก้านดอกยาว แข็งแรง และตรง ซึ่งไม่เป็นการยากเกินสำหรับคนไทย และสภาพดิน ฟ้าอากาศในเมืองไทยเลย


เท่าที่นิยมและปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้มี 2 วิธี คือ

1. การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด วิธีนี้นิยมทำกันมากในต่างประเทศ โดยการซื้อเมล็ดจากบริษัทผู้ผลิตเมล็ด แล้วนำไปเพาะในกระบะ เช่นเดียวกับไม้ดอกอื่น ๆ วัตถุที่ใช้เพาะ ใช้ทรายสะอาดผสมกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1: 1 เมื่อต้นกล้าโตพอสมควรแล้ว จึงย้ายปลูกต่อไป ส่วนในเมืองไทยไม่นิยมการขยายพันธุ์วิธีนี้ เพราะช้าและเสียเวลา ส่วนมากจะใช้ขยายพันธุ์ เมื่อได้เมล็ดที่เกิดจากการขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ ใหม่ ๆ เท่านั้น

2. การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ วิธีนี้นิยม ใช้กันอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวสวนที่ทำเยอร์บีราเป็นไม้ตัดดอกการค้า เพราะทำได้ง่าย ไม่เลือกฤดูกาล เยอร์บีราเจริญเติบโตเร็ว ให้ดอกเร็ว คือหลังจากย้ายปลูกเพียง 2 เดือนก็ให้ดอก และ ให้ดอกติดต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อกอแน่นก็ย้ายหน่อไปปลูกต่อไปอีก

การแยกหน่อควรขุดต้นเยอร์บีราขึ้นมาทั้งกอ ล้างดินออกให้หมด ใช้มือหรือมีดเล็ก ๆ แบ่งแยกกอให้ได้ขนาดตามต้องการ กอหนึ่ง ๆ อาจจะ มี 3-5 ต้นก็ได้ นำกอที่แยกออกไปปลูกก่อนปลูกควรตัดแต่งรากเสียใหม่ พร้อมทั้งตัดปลายใบดอกบ้าง เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำ ระยะปลูกประมาณ 40 X 40 ซม. ใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมแปลง เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน ทำให้ต้นเยอร์บีราตั้งตัวได้เร็วขึ้น ดินที่ใช้ปลูกควรจะมีความเป็นด่างเล็กน้อย คือประมาณ 7.5


1. เลือกปลูกเฉพาะพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นจริงๆเท่านั้น  เนื่องจากเยอร์บีรามีมากมายหลายพันธุ์  จนแทบจะนับไม่ถ้วน  ทั้งนี้เนื่องจากมีการผสมพันธุ์เยอร์บีราอย่างกว้างขวาง  ทำให้ได้พันธุ์แปลกๆ  ใหม่ ๆ  เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ  นอกจากนี้  ยังมีการตั้งชื่อขึ้นเองตามสะดวกอีกด้วย พันธุ์ต่างๆ  เหล่านี้ถ้าจะมีการรวบรวมศึกษา  ก็คงจะรวบรวมได้ไม่ครบ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรจะคัดเลือกเฉพาะพันธุ์ที่ดีเด่นจริงๆ  เท่านั้นมาปลูก  โดยอาคัยหลักเกณฑ์คร่าวๆ  ดังนี้
ก. ดอกมีขนาดใหญ่  สีสดใส  สีไม่ตกและ  ไม่ซีด  เมื่อบานไปนาน ๆ
ข. กลีบดอกใหญ่หนา การจัดเรียงของกลีบ  ดอกเป็นไปอย่างมีระเบียบ
ค. หน้าดอกไม่ยุ่ง หรือมีปุยฝอย ๆ (เกสร  ตัวผู้)  ยาวเกินไปจนดูรกรุงรังไม่สวย
ง. ก้านดอกยาวตรงอวบ  และแข็งแรง
จ. เมื่อดอกบานเต็มที่  กลีบดอกไม่แอ่นไปทางข้างหลัง

นอกจากคัดเลือกพันธุ์ที่ให้คุณภาพของดอกดีแล้ว  เรายังพยายามคัดพันธุ์ที่มีลักษณะของต้นดีด้วย  ต้นที่ดีควรมีลักษณะ  ดังนี้
1. มีการเจริญเติบโตดี
2. มีความต้านทานโรคและแมลงดี
3. ให้ดอกดก
4. ไม่หวงหน่อ

ตามหลักเกณฑ์ทั้ง  9  ข้อที่ว่ามานี้  คงจะช่วยให้เราคัดเลือกได้พันธุ์ที่ดีเด่นมีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงไม่กี่พันธุ์  อย่างไรก็ตามควรจะเลือกปลูกให้ครบทุกสี  พันธุ์เยอร์บีราบางพันธุ์อาจจะเหมาะสมกับเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อต่างท้องถิ่นออกไป ควรจะคัดเลือกพันธุ์ที่  ใช้ปลูกของตัวเอง  เพื่อให้การปลูกเยอร์บีราเป็นการค้าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย

2. มีโปรแกรมการใส่ปุ๋ยที่แน่นอน  และปุ๋ยที่ใช้ควรจะมีสูตรที่เหมาะสมตรงกับความต้องการในระยะต่าง ๆ ของการเจริญเติบโต  หลังจากปลูกแล้วรอให้ต้นเจริญเติบโตเต็มที่  และจึงจะเริ่มให้ปุ๋ย (ผิดกับไม้อื่นอยู่บ้าง)  กะประมาณ  30-40  วันหลังจากแยกหน่อ ถ้าให้ปุ๋ยในครั้งแรกเร็วเกินไปจะทำให้ใบไหม้  ดังนั้นและชะงักการเจริญเติบโต  จากนี้แล้วก็ให้ปุยผสมไปทุก 2 อาทิตย์ อัตราส่วนของปุ๋ยควรจะเป็น  1:1:1  เช่น  14:14:14  เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะเยอร์บีรา  จะให้ดอกไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการเจริญเติบโตของต้น  ความต้องการของธาตุอาหารจึงพอๆ  กัน

3. ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว  เท่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้  ปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ ในกรุงเทพฯหายากมาก  โดยมากเรามักจะใส่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว  ควรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงไปในดินทุกครั้งเมื่อเตรียมแปลงปลูกใหม่ ไม้ดอกแทบทุกชนิดมีความต้องการอินทรีย์วัตถุประมาณ   ¼ -1/3  ของปริมาตรดิน

4. มีโปรแกรมการฉีดยาป้องกันโรคและแมลง  ไว้ล่วงหน้าเป็นประจำอาทิตย์ละครั้ง  เพื่อป้องกันแมลงที่จะมารบกวนกัดกิน  วางไข่ตลอดจนนำเชื้อโรคมาสู่ต้นเยอร์บีรา  เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วจะทำให้ยากแก่การรักษา  เพราะเราไม่สามารถมองเห็นเชื้อโรคได้ด้วยตาเปล่า การวินิจฉัยโรคจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจเช็คเป็นที่แน่นอน โดยนักวิชาการซึ่งทำให้ช้าและสายเกินกว่าจะแก้  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะฉีดยาครอบจักรวาลป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้ายังเกิดโรคขึ้นอีกก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ โรคและแมลงที่เกิดขึ้นภายหลังการป้องกันนี้จะมีไม่มากนัก  ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่รุนแรงอะไร  เมื่อเกิดโรคขึ้นควรจะเผาหรือทำลายต้นพืชเสียก่อนที่จะลุกลามต่อไป

5. ควรทำความสะอาดพุ่มต้นหรือกอเยอร์บีราให้โปร่ง  และสะอาดอยู่เสมอ  การทำความสะอาดพุ่ม ต้องทำโดยการเด็ดหรือถอนใบ้แก่ๆ  และเหี่ยวแห้งทิ้งไป  ไม่ปล่อยให้เหี่ยวแห้งและร่วงหล่นคาต้น  เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแมลง  ยิ่งในฤดูฝนควรจะแต่งกอให้โปร่งมากๆ  เพราะในช่วงฤดูนี้เยอร์บีรามีการแตกกอเร็ว  ถ้าปล่อยให้กอทับแน่นมากเกินไป  แสงแดด จะส่องไม่ถึงโคนต้น จะทำให้ดอกเยอร์บีราตลอดจนโคนต้นเน่า  และอาจจะเน่าตายไปทั้งกอก็ได้

6. อย่าปล่อยให้เยอร์บีราแตกกอจนพุ่มแน่นจนเกินไป  เพราะถ้ากอแน่นหรือมีขนาดกอใหญ่เกินไปจะทำให้จำนวนดอกน้อยลงไปเรื่อยๆ  คุณภาพของดอกที่ได้ก็จะเลวลง  ฉะนั้นเพื่อที่จะให้เยอร์บีรามีดอกดก  คุณภาพดอกดี เราควรจะรีบแบ่งแยกกอนำไปปลูกในแปลงใหม่ต่อ ๆ  ไป

7. ควรจะมีการรื้อแปลง  แล้วแยกกอ นำเอาต้นไปปลูกในแปลงใหม่ต่อไป  เมื่อแยกกอเยอร์บีรามาปลูก  หลังจากปลูกประมาณ  2  เดือน  ก็จะเริ่มให้ดอก พร้อมกันนั้นเยอร์บีราก็แตกกอตามมาเรื่อยๆ  เมื่อกอแน่นหรือเป็นพุ่มใหญ่ประมาณ  หลังจากปลูกแล้ว  6-8  เดือน  เราควรจะได้รื้อแปลงปลูกเสียใหม่  นำเอากอที่แยกได้จากกอเดิมไปปลูกในแปลงใหม่ที่เตรียมไว้ แปลงปลูกเก่าควรจะใช้ปลูกพืชชนิดอื่น

8. การปลูกใหม่แต่ละครั้ง  ไม่ควรจะปลูกซ้ำแปลงเดิม  ควรจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับพืชอื่น  เพื่อที่จะได้ให้เป็นที่สะสมของโรค  และแมลง  เท่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านมักจะปลูกเยอร์บีราแต่ละครั้งให้คุ้มไปประมาณ  1  ปี  แล้วจึงรอแปลงปลูกใหม่  การปลูกพืชในแปลงทิ้งไว้เป็นเวลานานนับปีนั้น  มีผลเสียหายหลายประการ เช่น ดินจะแน่น เหนียว การถ่ายเทอากาศไม่ดี โรคและแมลงสะสมไว้มาก  ดังนั้นแม้ว่าเยอร์บีราจะมีชีวิตยืนยาวกว่าไม้ดอกชนิดอื่นๆ  ก็ตาม  เราไม่ควรจะปล่อยไว้ในที่เดิมนานเกินไป  ควรจะหาทางขยับขยายไปแปลงใหม่  โดยการแยกกอไปปลูก ไม่ควรปลูกในแปลงเดิม แม้ว่าจะได้เตรียมดินใหม่ก็ตาม มีชาวสวนบางคนทำเช่นที่ว่ามานี้  ทำให้เกิดปัญหามาก ที่เห็นได้ชัดก็คือ  ไส้เดือนฝอย ชาวสวนในท้องถิ่นอำเภอ  บางกรวย  และอำเภอตลิ่งชัน  เริ่มจะมีปัญหาเกี่ยวกับไส้เดือนฝอยในแปลงปลูกเยอร์บีราแล้ว  ถ้าไม่มีการปรับปรุงวิธีการเสียใหม่โดยการปลูกพืชหมุนเวียน  ต่อไปจะไม่สามารถปลูกเยอร์บีราได้เลย

9. ควรตรวจเช็คความเป็นกรดเป็นด่างของดินทุกครั้งก่อนปลูกเยอร์บีรา  ทั้งนี้เพราะเรามีการปลูกเยอรบีราสลับไปกับการปลูกพืชผักและไม้ดอกชนิดอื่นๆ  ซึ่งไม้ดอกส่วนมากมีความต้องการ  pH  ของดินประมาณ  6-7.0  แต่สำหรับเยอร์บีรานั้นต้องการดินเป็นด่างเล็กน้อย  คือมี  pH  ประมาณ  7.5  เยอร์บีราจะชะงักการเจริญเติบโตในดินที่เป็นกรดมากไป  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องปรับ  pH  ของดินให้ได้ตามความต้องการของเยอร์บีรา การตรวจเช็คดินทุกครั้งก่อนปลูกเยอร์บีราอาจจะเป็นการยากเกินไปและไม่สะดวกสำหรับชาวสวน แต่ว่าผลผลิตที่ได้ก็คุ้มค่า  บริการตรวจเช็คดินที่ทางกรมพัฒนาที่ดิน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบริการอันนี้ไว้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร  เขาจะแนะนำวิธีการเก็บตัวอย่างดิน  ตลอดจนการปรับปรุงดินให้ได้ตามความต้องการให้  ชาวสวนจึงควรจะได้ใช้บริการอันนี้  ให้เป็นประโยชน์

10. ควรมีการพรางแสงให้เยอร์บีราตามสมควร  การพรางแสงจะช่วยให้ก้านดอกเยอร์บีรายาวขึ้น สีของดอกสดใส  แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่ปรากฎว่ามีชาวสวนพรางแสงให้เยอร์บีรา ทั้งนี้อาจจะ เป็นเหตุผลอันเดิมที่ว่าราคาดอกต่ำเหลือเกิน  ไม่ว่าก้านจะสั้นหรือยาวแค่ไหนก็ขายได้ราคาเดิม  จึงไม่มีใครคิดที่จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตามถ้ามองเห็นแนวทางที่จะส่ง  ดอกเยอร์บีราออกไปขายในตลาดยุโรป  เราก็ควรจะปรับปรุงคุณภาพของดอก  และความยาวของก้านให้ดีขึ้น ราคาที่ได้ก็จะติดตามมา การพรางแสงจะทำเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คือเริ่มพรางตั้งแต่ดอกเยอร์บีราเริ่มจะบาน (พอมองเห็นสีของดอก) ไปจนเก็บเกี่ยววัสดุที่ใช้คลุม อาจจะเป็นพลาสติคใส ไม้ไผ่สานทางมะพร้าว  หรือไม้ระแนง  แล้วแต่สะดวก  แม้ว่าจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปบ้าง แต่ผลที่ได้ก็คุ้มค่า






 

ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.thaikasetsart.com

โพสต์โดย : POK@