เทคนิคการเลี้ยงผึ้งโพรง แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อสร้างรายได้อย่างมืออาชีพ
เทคนิคการเลี้ยงผึ้งโพรง แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
เพื่อสร้างรายได้อย่างมืออาชีพ
คุณวุฒิชัย นาซ้าย หรือที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกว่า ลุงถนอ ม อยู่บ้านเลขที่ 234 หมู่ที่ 8 บ้านฝั่งตื้น ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เล่าให้ฟังว่า ตนเองประกอบอาชีพทำนาและทำสวนลำไย ประมาณปี 2535 ได้มีผึ้งโพรงเข้ามาอาศัยในโพรงไม้ที่เก็บไว้ในบริเวณบ้าน จำนวน 1 รัง จึงเกิดแนวคิดว่า บ้านเราเองมีความร่มเย็น สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของผึ้งโพรง หากมีการเลี้ยงอย่างจริงจัง น่าจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงสร้างและขยายรังออกเป็น 6 รัง โดยอาศัยรังเลี้ยงที่ทำจากต้นมะพร้าว ตัดเป็นท่อนๆ วางตั้ง หรือวางนอนก็ได้ แล้วหาไม้แผ่นหรือไม้อัดก็ได้ ปิดหัวท้ายของท่อนมะพร้าว เจาะรูที่ข้างท่อนมะพร้าวเพื่อให้ผึ้งมีทางเข้าออก รูเข้าออกนี้จะต้องอยู่ทางทิศตะวันออก หลังจากผึ้งโพรงเข้าไปอาศัยแล้ว ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก็จะได้รวงผึ้งเต็มรัง นอกจากใช้ไม้จากต้นมะพร้าวเป็นรังเลี้ยงผึ้งโพรงแล้ว อาจจะใช้วัสดุอื่นๆ ก็ได้ เช่น ท่อระบายน้ำเก่าที่เป็นปูนซีเมนต์
ทำรังไม้ตีประกบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ความสูงไม่ควรเกิน 45 เซนติเมตร หรือใช้ต้นไม้ที่เป็นโพรง ฯลฯ ที่สำคัญคือ จะต้องมีรูขนาดพอเหมาะให้ผึ้งโพรงบินเข้าออกได้สะดวก และจะต้องให้ผึ้งอาศัยอยู่เองตามธรรมชาติ อย่าไปรบกวนรังบ่อยมากนัก รักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมตามธรรมชาติ ไม่ตากแดดตากฝนตลอดทั้งวัน หากรังเลี้ยงผึ้งรังไหนที่มีรวงผึ้งเต็มแล้วนั้น จะสังเกตที่รูเข้าออก จะมีผึ้งบินออกมาอยู่นอกรังมากกว่าปกติ จึงเปิดฝาที่ปิดนั้นออก แล้วแกะหรือแคะรวงผึ้งที่ห้อยอยู่ภายในรังที่เลี้ยง ออกมาคั้นน้ำผึ้งไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายได้
คุณวุฒิชัย เล่าต่อว่า ผึ้งที่เลี้ยงนี้เขาเรียกผึ้งโพรงไทย หรือผึ้งโพรงธรรมชาติ หรือผึ้งโก๋น แต่ละพื้นที่เรียกแตกต่างกัน เป็นผึ้งที่เลี้ยงง่าย ไม่ดุร้าย หากเจอตัวผึ้งหรือรังที่ดุร้าย เพียงใช้ควันจากกาบมะพร้าวเพียงชิ้นเดียวก็จะบินหนีไปแล้ว สำหรับ
วิธีการเก็บรวงผึ้ง นั้น ในหนึ่งรังจะมีรวงผึ้งห้อยอยู่ประมาณ 7 รวง การเก็บจะต้องไม่เก็บทั้งหมด จะต้องเหลือติดรังไว้ 1 รวง เพื่อให้ผึ้งโพรงขยายพันธุ์ต่อไปและเป็นที่อยู่อาศัยของตัวนางพญาผึ้ง
วิธีการเก็บน้ำผึ้ง ทำได้ง่ายแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่เหมือนกับการนำแผ่นรวงผึ้งไปสลัดน้ำผึ้งของการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ หลังจากแกะรวงผึ้งออกมาจากรังแล้ว นำไปใส่ในกะละมังแล้วผ่ารวงผึ้งออกเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปห่อไว้ในผ้าขาวบางที่มัดอยู่ด้านบนของถุงพลาสติก ใช้มือขยี้ให้รวงผึ้งแตกหรือให้ไขผึ้งที่ปิดปากรวงแตกออก มัดห้อยไว้ประมาณหนึ่งวัน น้ำผึ้งที่อยู่ในถุงผ้าขาวบางก็จะหยดลงในถุงพลาสติกที่รองรับนั้น จากนั้นจึงนำน้ำผึ้งที่ได้ไปบรรจุในขวดตามขนาดที่ต้องการ สำหรับรวงผึ้งที่เหลือในผ้าขาวบางนั้น จะนำไปแปรรูปเป็นไขผึ้งโดยนำไปต้มให้ร้อน ส่วนที่ลอยอยู่ด้านบนจะมีกลิ่นของผึ้งโพรงอยู่ นำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง ไขผึ้งที่ได้จะนำไปใช้เป็นไขผึ้งหรือสารล่อให้ผึ้งมาทำรังใหม่ หรือการทำรังใหม่และขยายพันธุ์ จะใช้ไขผึ้งนี้ทาบริเวณด้านในของรังผึ้งใหม่ เกษตรกรรายใหม่ที่ริเริ่มเลี้ยงผึ้งโพรง จะขอซื้อในราคากิโลกรัมละ 500 บาท มีคุณสมบัติดีกว่าการใช้สารล่อสำเร็จรูปที่ใช้ฉีดพ่นและมีขายทั่วไปในท้องตลาด
สำหรับ ศัตรูของผึ้งโพรง นั้น ได้แก่ จิ้งจก มด สำหรับจิ้งจกจะป้องกันโดยใช้สารไล่จิ้งจกโดยเฉพาะ ส่วนมดนั้น จะใช้สารไล่แมลงที่เป็นแป้งที่ใช้ไล่เห็บ หมัด ของสุนัข
ขณะนี้คุณวุฒิชัย ได้ขยาย
การเลี้ยงผึ้งโพรง มากถึง 200 กว่ารัง สำหรับน้ำผึ้งที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำผึ้งจากเกสรลำไย เพราะนำรังผึ้งโพรงไปวางไว้ในสวนลำไย และไม่มีการพ่นสารเคมีแต่อย่างใด น้ำผึ้งที่เหมาะสมจะต้องเก็บมาคั้นอยู่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี หรือที่เรียกว่าน้ำผึ้งเดือนห้า หากเกินกว่านี้อาจจะมีน้ำฝนปะปนในน้ำผึ้ง น้ำผึ้งจากผึ้งโพรง จำหน่ายที่บ้านราคาขวดละ 250 บาท/750 ซีซี ปัจจุบันนี้ที่สวนของ
คุณวุฒิชัย นาซ้าย เป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งโพรงจากทั่วประเทศ ติดต่อได้ที่ โทร. (080) 501-5987
โพสต์โดย : POK@