Social :



เทคนิคการปลูก และดูแล ข้าวสาลี

23 ส.ค. 62 11:08
เทคนิคการปลูก และดูแล ข้าวสาลี

เทคนิคการปลูก และดูแล ข้าวสาลี

เทคนิคการปลูก และดูแล ข้าวสาลี

ข้าวสาลี   เป็นธัญพืชเมืองหนาวชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง  เพราะต้องนำเข้าปีละเป็นจำนวนมาก  เช่น  ในปี  พ.ศ.  2532   ไทยได้นำเข้าแป้งข้าวสาลีทั้งสิ้น  334,621  ตัน  คิดเป็นมูลค่าถึง  1,748  ล้านบาท  และยังมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เพราะการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ  การส่งเสริมเพิ่มผลผลิตข้าวสาลี  โดยกรมส่งเสริมการเกษตรกับบริษัทเอกชนผู้ค้าแป้งข้าวสาลีภายในประเทศ  4  บริษัท  ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวสาลีให้มากยิ่งขึ้น  โดยให้การสนับสนุนด้านการซื้อผลผลิตในราคาประกัน  เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจ  และหันมาปลูกข้าวสาลีให้มากเพื่อลดการนำเข้าได้ทางหนึ่ง  รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง

ข้าวสาลีเป็นพืชที่ต้องการอากาศหนาวเย็น  ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี  ปลูกได้ในสภาพไร่ที่อาศัยน้ำฝน  หรือปลูกในเขตชลประทานที่ดินมีการระบายน้ำได้ดี


พันธุ์ที่เหมาะสม
ปัจจุบันพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกมี  3  พันธุ์  คือ
- สะเมิง  1   เหมาะสำหรับปลูกในที่ดอนของภาคเหนือที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น  มีอายุ  100  วัน
- สะเมิง  2   สามารถปรับตัวได้ดีภายใต้สภาพอากาศที่แปรปรวน  จึงเหมาะที่จะใช้ปลูกในสภาพไร่อาศัยน้ำฝน  และในสภาพนาที่ค่อนค้างมีน้ำจำกัด มีอายุ  90  วัน
- อินทรีย์  1   สามารถปรับตัวได้ดีภายใต้สภาพอากาศแปรปรวน  ทนแล้ง  ทนต่อการทำลายของหนอนกอ  เหมาะสมที่จะใช้ปลูกทางภาคเหนือ  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในสภาพไร่อาศัยน้ำฝน  ช่วงที่เหมาะสมที่สุดอยู่ระหว่างวันที่  10-20  ตุลาคม  ไม่ควรปลูกเร็วเกินไปเพราะอากาศร้อน  จะทำให้เกิดโรคง่าย และหากปลูกช้าเกินไปข้าวสาลีจะกระทบแล้ง  ในสภาพนาช่วงที่เหมาะสมที่สุดประมาณ  15  พฤศจิกายน  แต่ไม่ควรปลูกล่าเกิน  15  ธันวาคม


ดินที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวสาลี  จะต้องมีการระบายน้ำดี  ดินเหนียวจัด หรือมีชั้นดินดานที่มีการระบายน้ำเลว  รวมทั้งดินที่เป็นกรดจัด  และเค็มจัด  ไม่เหมาะสมจะใช้ปลูกข้าวสาลี  ดังนั้นพื้นที่ซึ่งจะใช้ปลูกข้าวสาลีควรมีลักษณะ  ดังนี้
- ดินมีการระบายน้ำได้ดี   ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี  ซึ่งได้แก่  ดินร่วน  หรือดินร่วนปนทราย
- มีความชื้นในดิน   หรือมีแหล่งน้ำที่แน่นอนอย่างน้อย  30  วัน  หลังปลูกข้าวสาลี
- แปลงปลูกข้าวสาลี ไม่ควรขัดแย้งกับแปลงปลูกพืชอื่นข้างเคียงเกี่ยวกับ  ระบบการให้น้ำ  การให้น้ำควรปล่อยตามร่อง  และระบายออกได้สะดวกและรวดเร็ว


การเตรียมแปลงปลูกข้าวสาลี  ควรเริ่มทันทีหลังเก็บเกี่ยวพืชแรกออกจากแปลง  ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของวัชพืช  และเป็นช่วงที่ดินยังมีความชื้นอย่างพอเพียง การเตรียมดินโดยทั่วๆ ไปมี 2 ลักษณะ  คือ
- มีการพลิกดิน   ขุดดินด้วยจอบแล้วย่อยดินโดยใช้จอบสับ ใช้รถแทรกเตอร์ไถดะ  และไถแปร  เพื่อให้ดินแตกย่อย  ปรับที่ให้เรียบ
- ไม่มีการพลิกดิน   ได้แก่  การปลูกโดยหยอดเมล็ดเป็นหลุมในตอซังข้าว  หรือตัดตอซัง  ยกแปลงปลูกแบบกระเทียม  ขุดดินจากร่องเกลี่ยบนแปลง  เปิดร่องโรยเมล็ดเป็นแถว

ปลูกได้หลายวิธีตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่  โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ไร่ละ  20  กิโลกรัม

การปลูกในสภาพไร่
1. การปลูกในสภาพที่สูงลาดชัน  จะใช้วิธีกระทุ้ง หยอดแบบข้าวไร่ หยอดหลุมละ  5-6  เมล็ด  ระยะห่างระหว่างแถว  20  ซม. (2  ฝ่ามือ)
2. การปลูกในสภาพที่ดอน ไถพลิกดิน  1  ครั้ง ย่อยดินด้วยจานพรวน แล้วปลูกได้  2  วิธีคือ
 - โรยเป็นแถว  เปิดร่องโดยใช้จอบสับดิน  หรือใช้คราดซี่ไม้หรือคราดซี่เหล็ก  ให้มีความลึก 3-5 ซม. ระยะระหว่างร่อง  20-25  ซม.  โรยเมล็ดพร้อมปุ๋ยตามความยาวของแปลง  จากนั้นกลบด้วยเท้าหรือจอบ
 - หว่านพรวนกลบ  ควรปลูกในช่วงที่ผิวดินมีความชื้นเพียงพอต่อการงอกของต้นกล้า  หว่านเมล็ดให้สม่ำเสมอทั่วแปลง  แล้วพรวนกลบ


การปลูกในสภาพนา
1. ปลูกแบบโรยเป็นแถวบนแปลง  หลังจากไถและคราดดินแล้วเปิดร่องลึกประมาณ  5  ซม.  โรยเมล็ดพร้อมปุ๋ยตามความยาวของแปลง  ระยะห่างระหว่างร่องหรือแถวประมาณ  20  ซม.  กลบเมล็ดให้ฝังในดินลึก  3-5  ซม. 
2. ปลูกแบบหว่านแล้วยกร่องกลบ  หลังจากไถดะและคราดดินแล้ว  หว่านเมล็ดข้าวสาลีพร้อมปุ๋ยรองพื้นให้ทั่วแปลง  แล้วยกแปลงและทำร่องน้ำ ดินที่ถูกยกขึ้นมาทำแปลงจะกลบเมล็ดข้าวสาลี  และปุ๋ยได้พอดี 
3. ปลูกแบบหว่านแล้วคราดกลบ  วิธีนี้เหมาะกับพื้นที่เป็นกระทงนาขนาดเล็ก  ดินต้องร่วนระบายน้ำได้สะดวก  ทำการไถขณะดินมีความชื้นพอที่เมล็ดจะงอกได้  ทำการหว่านแล้วคราดกลบ 
4. ปลูกแบบไม่ไถ  ตัดตอซัง  ยกแปลงหว่านเมล็ดพร้อมปุ๋ยทั่วแปลง  ถากหญ้ากำจัดวัชพืชกลบทิ้งไว้  2  วัน  แล้วใช้ฟางกลบ (สำหรับวิธีนี้ทางหวัดน่านได้ทำการทดสอบ  ปรากฏว่าให้ผลดี)  เป็นการประหยัดเวลา  แรงงานและลดต้นทุนการเตรียมดิน

การใส่ปุ๋ย
การปลูกข้าวสาลีให้ได้ผลผลิตสูง  และคุณภาพดี  เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยเคมี  2 
MulticollaC
ครั้ง  คือ  ปุ๋ยรองพื้น  ควรใช้ปุ๋ยสูตร  15-15-15  หรือ  16-20-0  คลุกเมล็ดพร้อมปลูก  อัตราไร่ละ  30  กิโลกรัม  ปุ๋ยแต่งหน้า  ใช้สูตร  21-0-0  อัตราไร่ละ  20  กิโลกรัม  ใส่หลังข้าวสาลีงอกแล้ว ประมาณ  15-20  วัน

การให้น้ำ
ข้าวสาลีไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง  หรือดินเปียกชื้นได้ยาวนาน  การให้น้ำหลังหยอดเมล็ดจึงค่อนข้างอันตราย ถ้าปลูกในสภาพดินมีความชื้นเหมาะสม  การให้น้ำครั้งแรกควรให้เมื่อข้าวสาลีงอกได้ประมาณ  10  วัน  ระยะวิกฤตที่ต้นข้าวสาลีไม่ควรขาดน้ำ  ได้แก่
1. ระยะที่ต้นข้าวสาลีกำลังแตกรากจากข้อใต้ดิน (10  วัน  หลังเมล็ดงอก)
2. ระยะเริ่มสร้างรวงอ่อน (25-30  วัน  หลังเมล็ดงอก)
3. ระยะผสมเกสร
4. ระยะสร้างเมล็ด  (15 วัน หลังผสมเกสร)  ในสภาพน้ำจำกัด  การให้น้ำ  2  ครั้ง  ในช่วง  30  วันแรก  ข้าวสาลีจะให้ผลผลิตในระดับที่น่าใจ

การตรวจความต้องการน้ำ
สามารถตรวจสอบได้โดยขุดดินลึกประมาณ  10  ซม.  หรือบริเวณใต้ผิวดินใกล้บริเวณราก  กำมือปั้นดิน  หากเมล็ดดินจับตัวกันได้ไม่แตกออกจากกัน  แสดงว่ามีความชื้นเพียงพอไม่ต้องให้น้ำ  ถ้าหากดินที่บีบไม่จับตัวต้องให้น้ำทันที

การป้องกันวัชพืช
1. เตรียมดินโดยไถพรวน  และคราดหลายครั้ง 
2. หากปลูกเป็นแถวใช้จอบถากระหว่างแถว 
3. ใช้สารบิวตาคลอร์  หรืออลาคลอร์ในอัตราตามคำแนะนำ


โรคใบจุดสีน้ำตาล   ต้นกล้าจะมีแผลสีน้ำตาลเข้มที่ราก  ที่ต้นใบด้านล่าง  ป้องกันโดยใช้สารเคมีคลุกเมล็ด  เช่น  ไวตาแวก  0.3%  หรือ  ไดเทนเอ็ม  45  อัตรา  3 ช้อนแกงต่อน้ำ  1  ปี๊บ

โรคกล้าแห้ง   และโคนเน่า   ต้นข้าวสาลีเหี่ยวและมีสีเหลือง  บริเวณโคนต้นจะพบเส้นใยสีขาว  และเมล็ดกลมสีขาวน้ำตาล  หากพบขุดต้น  และดินบริเวณรอบต้นออก  แล้วโรยปูนขาวบริเวณที่พบ

การป้องกันหนู
- ใช้เหยื่อพิษออกฤทธิ์เร็ว  เช่น  ซิงค์ฟอสไฟด์ ผสมข้าวสารอัตรา  1:99  วางรอบแปลง  หรือช่องทางเดินห่างกันจุดละ  15  ตัว
- หลังจากนั้นวางเหยื่อพิษออกฤทธิ์ช้า  เช่น  ราคูมินผสมเหยื่อ  อัตรา  1:99  โดยน้ำหนัก  ใส่กระบอกไม้ไผ่แล้ววางห่างกันจุดละ  20  ตัว  ตามช่องทางเดิน แล้วเติมเหยื่อทุก  15  วัน

การเก็บเกี่ยวนวดและทำความสะอาด
เก็บเกี่ยวเมื่อต้นข้าวสาลีแห้งเป็นสีฟาง  เมล็ดแข็ง เนื้อขนจะเปราะ  เกี่ยวด้วยเคียว  วางรายบนตอซัง  ตากให้แห้ง  2-3  แดด  มัดฟ่อนด้วยตอก  แล้วเอามานวดด้วยเครื่องนวดข้าวธรรมดา  โดยปรับความเร็วให้สูงขึ้นเล็กน้อย หรือนวดด้วยแรงคนโดยฟาดกับแครไม้  หรือกระบุงใหญ่ (ครุ)  หรือใช้ไม้ทุบรวงให้เมล็ดร่วงออกมา  แล้วฝัดด้วยกระด้งหรือเครื่องสีฝัด บรรจุกระสอบเก็บไว้ในที่ร่ม  อากาศถ่ายเทสะดวก

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์
ต้องตากเมล็ดพันธุ์ให้แห้งสนิทมากที่สุด  แต่อย่าให้โดนแสงแดดที่จัดจ้าโดยตรง  แล้วเก็บในภาชนะปิด  หรือเก็บในกระสอบ  แล้วนำไปเก็บรักษาในยุ้งฉางที่อากาศถ่ายเทได้ง่ายและกันฝน  นก  และหนูได้ด้วย  เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ของข้าวสาลีจะเป็นเมล็ดที่ไม่มีเปลือกหุ้มทำให้มีโอกาสถูกทำลายจากแมลงศัตรูในโรงเก็บ  เช่น  ด้วงงวงข้าว  ดังนั้นการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์บ่อยๆ  ทุกๆ  เดือน  ถ้าพบการทำลายของแมลงศัตรู  ควรรีบเอาออกมาทำความสะอาด  และผึ่งแดดอีกครั้ง

เรียบเรียง  :  ไพบูลย์  พงษ์สกุล  กองส่งเสริมพืชไร่นา  ,ทรรศนะ  ลาภรวย  กองส่งเสริมพืชไร่นา
บรรณาธิการ  :  เกตุอร  ราชบุตร  กองเกษตรสัมพันธ์











ข้อมูลอ้างอิง  :   https://baanjomyut.com/

โพสต์โดย : POK@