เทคนิคการปลูก และดูแลพลับ
เทคนิคการปลูก และดูแลพลับ
พลับ เป็นไม้ผลเมืองหนาวซึ่งเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่มีการเจริญเติบโตดี ลำต้นมีผิวหยาบกร้าน ขรุขระ สีน้ำตาลแก่ ใบสีเขียวเป็นมัน รูปหัวใจ ดอกคล้ายระฆังสีเหลืองอ่อน มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ส่วนดอกกระเทยนั้นพบน้อยมาก ลักษณะผลมีหลายแบบเช่น กลม กลมแบน กลมยาวคล้ายรูปกรวยผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อผลจะแข็งเมื่อสุกเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม เมล็ดสีน้ำตาลแก่พลับบางชนิดก็มีรสฝาก บางชนิดก็มีรสหวาน พลับเป็นพืชในวงศ์ Edenaneae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Diospyros kaki
สภาพดินฟ้าอากาศ
พลับเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็น เพื่อทำให้การพักตัวสิ้นสุดลง แต่ก็ไม่ชอบอากาศหนาวเย็นจัดเกินไป อุณหภูมิที่ลดต่ำอย่างกระทันหันระหว่างต้นฤดูหนาวทำให้เกิดอันตราย ดังนั้น ความเย็นและระยะความหนาวก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดินที่เหมาะก็คือดินร่วนปนทรายควรเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตดี
แบ่งออกตามความแตกต่างเรื่องรสชาติเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
- พลับหวาน พวกนี้รสหวานกรอบไม่ฝาดแม้จะเก็บมาจากต้นก็รับประทานได้เลยได้แก่ พันธุ์ฟูยู ไลโอเปอเชียน ไจโร ซารูก้า
- พลับฝาด เมื่อผลยังไม่สุกจะมีรสฝาด หากจะรับประทานต้องนำไปผ่านกรรมวิธีการลดความฝาดเสียก่อน เมื่อผลสุกเต็มจะมีสีแดงส้ม เนื้อผลนิ่ม รสหวาน พันธุ์พวกนี้ได้แก่ ทานีนาชิ, ฮาชิยา, ซูรู ความฝาดนี้ก็เนื่องจาก แทนนิน ในเนื้อของผลนั่นเอง
ลักษณะพันธุ์บางพันธุ์ที่น่าสนใจ เช่น
- ฟูยู มีผลขนาดกลางจนถึงใหญ่ รูปร่างกลมแบนสีแดงสดอมส้มคล้ายผลมะเขือเทศ มีรสหวานจัด แม้ว่าเนื้อผลจะยังคงแข็งอยู่ ไม่มีเมล็ด ผลแก่ราวปลายเดือนกันยายน
- ไลโอเปอเชียน มีผลขนาดใหญ่ รูปร่างกลมเนื้อผลมีรสหวาน แม้ว่าผลจะยังไม่สุกเต็มที่ มีเมล็ดผลจะแก่ปลายเดือนกันยายน
- ไนติงเกล มีผลขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายกรวยเมื่อผลยังไม่สุกจะมีรสฝาด เมื่อสุกเต็มที่เนื้อผลจะเนิ่มรสหวาน
- ทานีนาชิ มีผลขนาดใหญ่ กลมยาวคล้ายกรวย รสฝาดเล็กน้อย เมื่อสุกเต็มที่เนื้อนิ่ม ผิวสีแดงส้ม มีรสหวาน ไม่มีเมล็ด
- ฮาชิยา ผลมีขนาดใหญ่มาก รูปร่างคล้ายพันธุ์ทานีนาชิ รสฝาด แม่เมื่อสุกเต็มที่ผิวสีแดงเข้ม เนื้อผลนุ่มจะมีรสหวาน
- ซูรุ ผลรูปกรวยยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ ผิวสีเหลืองอมส้ม
การขยายพันธุ์พลับ ทำได้หลายทาง เช่น การเพาะจากเมล็ด การใช้หน่อที่งอกมาจากราก การติดตาและต่อกิ่ง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดมักจะกลายพันธุ์และมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ต้นที่ได้จากหน่อที่งอกออกมาจากราก ก็ขยายพันธุ์ได้ช้า และมีจำนวนน้อย ส่วนการติดตา และต่อกิ่งทำได้ง่ายมาก แต่ต้องใช้ต้นตอที่มีระบบรากแข็งแรง
ต้นตอที่ใช้กันในประเทศไทยใช้พืชสกุล Diospyros(Genus) เช่น กล้วยฤาษี(D.glandulosa) ตะโกนา (D.rhodocalyx) ตะโกสวน (D.malabarica) จันเขา(D.dsyphylla) มะพลับดง(D,schmidtii) ฯลฯ
สำหรับกล้วยฤาษีเป็นไม้ป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณภูเขาสูงทางภาคเหนือของไทย มีลำต้นใหญ่ระบบรากลึก ทนสภาพแห้งแล้ง เติบโตดี
พลับ เป็นไม้ผลที่มีการผลัดใบ ต้องการสภาพอากาศที่หนาวเย็น ในฤดูหนาวใบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนพอถึงเดือนมกราคมใบจะร่วงหมดต้น ต้นพลับจะพักตัวจนถึงเดือนมีนาคมก็จะเริ่มผลิใบขึ้นมาใหม่หลังจากนั้นไม่นานก็จะมีการผลิดอก และติดผล ผลจะแก่ในราวเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน
พลับขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด จึงไม่มีปัญหามากนักสำหรับการเลือกที่ปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสม 6-8*6-8 เมตร ซึ่งควรเริ่มปลูกต้นฤดูฝน
การเตรียมหลุมปลูกพลับ ควรขุดให้มีความกว้างยาวลึกด้านละ 1/2x1 เมตร แบ่งดินบนไว้กองหนึ่งดินชั้นล่างไว้อีกกองหนึ่ง นำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่าๆ เทใส่ลงไปขนาดพอๆ กับกองดินบนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้นจึงค่อยเอาดินล่างกลบลงไปให้มีระยะสูงกว่าปากหลุมเล็กน้อย นำต้นพลับที่ชำไว้ลงปลูก
การใส่ปุ๋ย
ควรแบ่ง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกให้เมื่อพลับเริ่มออกดอก โดยให้สูตร 13-13-21 อีกครั้งหนึ่ง ให้หลังจากเก็บเกี่ยวผลและตัดแต่งกิ่งแล้วโดยให้สูตร 15-15-15 สำหรับอัตราที่ใช้ก็แล้วแต่ขนาดและอายุของพลับ วิธีการให้ทำ โดยพรวนดินรอบบริเวณทรงพุ่มตื้นๆ ไม่ต้องลึกแล้วโรยปุ๋ยรอบๆ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตาม บริเวณที่โรยปุ๋ยให้ทั่ว
ศัตรู และการป้องกันกำจัด
พลับเป็นไม้ผลที่ไม่ค่อยจะมีปัญหาในเรื่องโรคและแมลงมากนัก ซึ่งในเมืองไทยยังมีการศึกษากันน้อยมาก แต่ในต่างประเทศมีสำคัญๆ เช่น
โรค Grown gall
สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ acterium tumorfaciens ป้องกันโดยการไม่นำเอาต้นที่เป็นโรคไปปลูก นอกจากนี้ก็มีไส้เดือนฝอยในดินทำให้เกิดโรครากปม นก และแมลงวันผลไม้บ้างเล็กน้อย
การเก็บผล
พลับที่ปลูกในประเทศไทย จะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายนตามแต่พันธุ์นั้นๆ ว่าจะสุกก่อนหรือหลังแค่ไหน ส่วนในอเมริกาจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม การเก็บเกี่ยวต้องทำอย่างระมัดระวังอย่าให้ผลช้ำหรือมีรอยตำหนิได้ เพราะว่าเชื้อราอาจจะเข้าไปทำลายให้ผลเน่าเสียหายเก็บไว้ได้ไม่นาน และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งในการเก็บเกี่ยวจะต้องใช้กรรไกรตัดที่ขั่วผล อย่าใช้มือเด็ดเป็นอันขาด ผลที่เก็บจะต้องเป็นผลที่แก่จัด ผิวผลมีสีเหลือง ซึ่งผลจะยังคงแข็งแรงอยู่ หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรจะใช้กระดาษฟางห่อผลคล้ายกับการห่อผลแอปเปิลเรียงซ้อนกัน 2-3 ชั้น ในกล่องกระดาษพร้อมที่จะขนส่งสู่ตลาด
ประโยชน์
พลับเป็นผลไม้ที่ใช้รับประทานสดได้มีรสหวานหอมชื่นใจ นอกจากนี้ยังนำไปทำเป็นอุตสาหกรรมทำพลับแห้งได้อีกด้วย และถ้ามีมากพอสมควรอาจจะส่งไปขายในตลาดต่างประเทศเป็นการเพิ่มพูนรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกได้เป็นอย่างดีด้วย
โพสต์โดย : POK@