เทคนิคการปลูกคะน้าปลอดสารพิษ ให้ได้ผลผลิตที่ หวาน กรอบ เป็นที่ต้องการของตลาด
เทคนิคการปลูกคะน้าปลอดสารพิษ
ให้ได้ผลผลิตที่ หวาน กรอบ เป็นที่ต้องการของตลาด
คะน้าปลอดสารพิษ กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไป หากเกษตรกรสามารถปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ได้ คะน้าจะเป็นแหล่งรวมแร่ธาตุวิตามิน ที่คับคั่งไปด้วยเบต้า-แคโรทีนชั้นเยี่ยม โดยเฉพาะยอดของคะน้าสด อุดมไปด้วยวิตามินซีและเกลือแร่จำนวนมาก ซึ่งวิตามินซีมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ชุ่มชื้น และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคสมบูรณ์แข็งแรง
คุณสุรพล มั่นยืน เกษตรกรวัย 54 ปี เป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกผักคะน้าปลอดสารที่สามารถสร้างรายได้อย่างงดงาม ในอดีตคุณสุรพลเล่าให้ฟังว่า
"กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน เคยกู้เงินเพื่อนำไปค้าขายข้าวเปลือก โดยลงทุนซื้อรถ 6 ล้อ ก่อสร้างโกดังและต้องใช้ทุนหมุนเวียนค่อนข้างมาก เมื่อเจอพิษวิกฤติเศรษฐกิจจนทำให้ขาดทุน มีหนี้สินติดตัวหลายแสนบาท จากความล้มเหลวดังกล่าวจึงหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบพอเพียงโดยเลือกปลูกผักคะน้าเป็นอาชีพเสริมภายหลังจากการทำนา โดยต้องใช้ความอดทนสูงแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นในเรื่องการศึกษาหาความรู้โดยสอบถามจาก ผู้ที่มีประสบการณ์ที่เคยปลูกผักคะน้ามาก่อนว่าเทคนิคการปลูกอย่างไรแล้วจึงนำมาปรับประยุกต์ใช้ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การให้ปุ๋ย การพัฒนาระบบน้ำ และการดูแลแปลงผักอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องให้อาหารและน้ำอย่างพอเพียง การดูแลและปรับปรุงคุณภาพดินหลังเก็บผลผลิตในแต่ละรอบ เพื่อเตรียมการเพาะปลูกในครั้งต่อไป"
สำหรับเทคนิคการลดค่าใช้จ่ายคุณสุรพลใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยมีการจัดการระบบน้ำในแปลงให้หมุนเวียนอย่างทั่วถึง ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย จะมีพ่อค้าคนเข้ามารับซื้อถึงสวน คุณสุรพลใช้พื้นที่เกือบ 4 ไร่ในการปลูกคะน้าอย่างจริงจังนอกเหนือจากพื้นที่หลังการทำนา โดยใช้ระบบอินทรีย์ชีวภาพเข้ามามีส่วนช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนโดยจะทำการปลูกหมุนเวียนกันให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปีและเพิ่มปริมาณการผลิตในช่วงฤดูหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวอีก 2 ไร่ แต่คุณสุรพลก็ยังยึดเอาอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักอยู่เช่นเดิมในพื้นที่ 40 ไร่ นอกจากนี้ก็ยังทำสวนมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้อีก 18 ไร่ ที่มีอยู่จำนวน 2 พันกว่าต้น ปลูกได้เพียง 5 ปี เริ่มจะให้ผลผลิตแล้ว
1. ไม่ใช้สารเคมีใดๆ เช่น ยาป้องกันรา ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ในการปลูก
2. ใช้วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน
3. ใช้ปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อินทรียวัตถุต่างๆ บำรุงดิน
4. ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำสกัดชีวภาพ หรือสารสมุนไพรอย่างสม่ำเสมอ
5. ใช้พันธุ์พืชต้านทานโรค
6. เตรียมดินปลูกให้อุดมสมบูรณ์ จะช่วยให้พืชผักสมบูรณ์แข็งแรงต้านทานโรค ผลผลิตดีและมีคุณภาพ
7. ปลูกผักแบบผสมผสานในแปลงเดียว เพื่อป้องกันการทำลายของหนอนและแมลง
8. ปลูกพืชให้เหมาะสมกับฤดูกาล
การเตรีมแปลงปลูก
เริ่มจากการขุดดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อฆ่าเชื้อในดิน จากนั้นก็นำปุ๋ยหมักชีวภาพหรือถ้าไม่มีก็เอาปุ๋ยคอกเก่ามาใส่คลุกเคล้ากับดินในอัตรา 1 ตัน/ไร่ หรือ 1 กิโลกรัม/พื้นที่ 1 ตารางเมตร หรืออาจจะลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยหมักในอัตราปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 ส่วน/ปุ๋ยคอก 10 ส่วน จะเป็นการความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละรอบของปลูก จากนั้นก็พรวนย่อยหน้าดินให้ร่วนเล็กน้อย วิธีการเช่นนี้เหมาะสำหรับการปลูกแบบหว่านเมล็ดลงแปลง เพื่อไม่ให้เมล็ดตกลงไปในดินลึกจนเกินไปอาจจะทำให้เมล็ดงอกยาก ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมต์เพื่อปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมในอัตรา 1 ตัน/ไร่ เช่นกัน
การหว่านเมล็ด
หลังเตรียมดินเสร็จก็เป็นขั้นตอนการโรยเมล็ด โดยพื้นที่ 1 ไร่จะใช้เมล็ดพันธุ์ 2 กิโลกรัม หว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งผิวแปลงโดยให้เมล็ดห่างกันประมาณ 2-3 เซนติเมตร จากนั้นใช้ดินผสมปุ๋ยคอกหว่านกลบเมล็ดให้หนาประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เพื่อเก็บรักษาความชื้นและป้องกันเมล็ดถูกน้ำกระแทกกระจาย จากนั้นคลุมด้วยฟางแห้งบางๆ เพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในดินรดน้ำให้ทั่ว รักษาความชื้นให้สม่เสมอ ระหว่างนี้ จะเริ่มเห้นต้นกล้างอกออกมา
การคัดแยกต้นกล้า
หลังคะน้างอกแล้วประมาณ 14-20 วัน หรือต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ก็ให้เริ่มทำการถอนแยก โดยเลือกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก ทิ้งระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร ต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในช่วงนี้ก็สามารถจำหน่ายเป็นยอดผักได้หลังจากการถอนแยกครั้งแรกแล้วให้ใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นหรือราดลงดินสัปดาห์ละครั้งตามด้วยน้ำหมักสมุนไพรสูตรไล่แมลงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อคะน้ามีอายุประมาณ 30 วัน ให้ถอนแยกครั้งที่ 2 ให้เหลือระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในช่วงนี้ก็สามารถส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้อีก และการถอนแยกคะน้าแต่ละครั้งนั้นก็ควรกำจัดวัชพืชไปด้วยในตัว
การวางระบบน้ำภายในสวนอาจจะใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์แบบหัวพ่นฝอยที่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก ทิ้งระยะห่างหัวละ 4 เมตรตลอดระยะแนวปลูก ให้น้ำวันละ 2 รอบ เช้าและเย็น เป็นเวลา 5-10 นาที
เน้นการให้ปุ๋ยหมัก ลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยปุ๋ยที่ใช้ให้คะน้า จะเป็นสูตรเร่ง บำรุง และเพิ่มความสดกรอบให้แก่คะน้า โดยใช้หน่อกล้วยเป็นวัตถุดิบในการหมัก ดังรายละเอียดดังนี้
น้ำหมักหน่อกล้วยบำรุงคะน้า-บำรุงดิน เพิ่มความสดกรอบ : น้ำหมักชีวภาพสูตรนี้จะช่วยในการปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นธาตุอาหารแก่พืช พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้เลย ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชให้สมบูรณ์แข็งแรงตามธรรมชาติ ต้านทานโรคและแมลง นอกจากนี้ยังช่วยสร้างฮอร์โมนพืชทำให้ผลผลิตสูง และคุณภาพของผลผลิตดีขึ้น
สูตร :
1. พืช-ผักต่างๆ 3 ก.ก.
2. หญ้าสด 2 ก.ก.
4. กากน้ำตาล 3 ก.ก.**หรือพืชต่อน้ำตาล 3:1
วิธีการทำ : หมักไว้ 15 วันแล้วเติมน้ำสะอาด 20 ลิตรพร้อมกากน้ำตาลอีก 2 ก.ก. หมักทิ้งไว้อีก 7-15 วัน
การนำไปใช้ : ใช้น้ำหมัก 2 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 20 ลิตร รดหรือพ่นพืชผัก อย่างน้อย 7-15 วัน/ครั้ง
แมลงศัตรูคะน้า : การจัดการศัตรุพืชที่เข้ามารบกวนให้คะน้าได้รับความเสียหาย จะใช้น้ำหมักสมุนไพรในการป้องกันกำจัด ซึ่งสูตรที่ใช้ได้ผลดีในแปลงปลูก คือ สูตร สะเดา ตะไคร้หอม และ ใบยูคา ซึ่งมีวิธีการทำดังนี้
สูตรน้ำหมักสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืชคะน้า : ศัตรูพืชที่สร้างความน่ารำคาญให้กับต้นคะน้าเห็นจะเป็นหนอนกระทู้ผักที่มีการระบาดในทุกๆปี น้ำหมักชีวภาพสูตรนี้ ช้สำหรับป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ผัก ราน้ำค้าง ราแป้ง เพลี้ย หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ไส้เดือนฝอย หมัดผัก ตั๊กแตนโดยใช้สมุนไพร 3 ชนิด คือ สะเดา คะไคร้หอมและยูคาลิปตัส หมักกับกากน้ำตาลและน้ำสะอาดในอัตราส่วน 3:1:10 (สมุนไพร:กากน้ำตาล:น้ำสะอาด) หมักไว้อย่างน้อย 7 วันและจะให้มีประสิทธิภาพสุงสุดควรทำการหมักอย่างน้อย 3 เดือน นำมาใช้งานโดยใช้น้ำหมักสมุนไพร 2 ช้อนโต๊ะผสมกันกากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะและน้ำสะอาด 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน หากมีการระบาดหนักให้ฉีดพ่น 2-3 วัน/ครั้ง สามารถป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ผักได้เป็นอย่างดี
โรคคะน้า : โรคที่เกษตรกรมักจะประสบปัญญาส่วนใหญ่ในสภาพอากาศที่มีความชื้น คือ โรคราน้ำค้าง ซึ่งเชื้อราจะขึ้นกระจายเต็มใบจะมีลักษณะใบเหลืองและใบจะร่วงหรือแห้ง ในเวลาที่อากาศไม่ชื้นจะไม่พบผงแป้งและแผลแห้งเป็นสีเทาดำ โรคนี้ระบาดได้ทั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าจนเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งจะทำความเสียหายมากเพราะทำให้ใบเสียมากและเจริญเติบโตช้า โรคนี้ไม่ทำให้ต้นคะน้าตาย แต่ทำให้น้ำหนักลดลง เพราะต้องตัดใบที่เป็นโรคทิ้ง ทำให้ได้น้ำหนักน้อยลง เมื่อพบอาการในลักษณะดังกล่าวให้ใช้ปูนขาวในการยับยั้งเชื้อราโดยใช้ปูนขาว 1 กำมือผสมน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วเอาเฉพาะน้ำปูนใส 20 ลิตรผสมกับน้ำเปล่า 100 ลิตร ฉีดพ่น 7-15 วัน/ครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันและหากมีการระบาดก็ใช้วิธีพ่นติดต่อกัน 2-3 ครั้งแล้วอาการดังกล่าวจะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายในวงกว้างได้
การเก็บเกี่ยว
อายุการเก็บเกี่ยวของคะน้าอยู่ที่ประมาณ 45-55 วันหลังปลูก คะน้าที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือระยะที่คะน้ามีอายุ 45 วัน แต่คะน้าที่มีอายุ 50-55 วัน เป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนักมากที่สุด ใช้มีดคมๆ ตัดให้ชิดโคนต้นโดยเริ่มตัดไล่เป็นหน้ากระดานไปตลอดทั้งแปลง หลังเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำผักเข้าที่ร่ม วางในที่โปร่งและอากาศเย็น และภาชนะที่บรรจุผักควรสะอาดด้วย จากนั้นก็รดน้ำ ให้ปุ๋ย ดูแลรักษาต่อไปเพื่อให้แตกยอดออกมาใหม่
** วิธีการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องเพื่อให้คะน้ามีคุณภาพดี รสชาติดีและสะอาด ควรปฏิบัติดังนี้ คือ ต้องเก็บในเวลาเช้าก่อนแดดออกจะดีกว่าเวลาบ่ายที่คะน้าโดนแดดไปแล้วทำให้เหี่ยวได้ง่าย จากนั้นก็ใช้มีดเล็กๆ ตัดโคนต้นที่มีใบติดไว้เล็กน้อย อย่าปล่อยให้ผักแก่เกินไป
การตลาด : เนื่องจากคะน้าเป็นพืชอายุสั้นใช้เวลาปลูกเพียง 45 วันก็สามารถเก็บผลผลิตได้และใช้เวลาเก็บผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 2 เดือน ...ผลผลิตจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ช่วง คือ ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท ช่วงถัดมาคือช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเป็นช่วงที่ผลผลิตมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 20 บาท ช่วงที่ราคาตกต่ำสุดๆ จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์เพียงกิโลกรัมละ 2-5 บาท
การจัดการผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว : ผลผลิตที่ได้จะนำมาล้างน้ำทำความสะอาด บรรจุถุงๆละ 3 กิโลกรัม รอการรับซื้อจากพ่อค้า ตลาดส่วนใหญ่ที่มารับซื้อมีอยู่ 2 แห่ง คือ ตลาดวารินเจริญศรี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และตลาดเมืองทอง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท
โพสต์โดย : POK@