ทำความรู้จักกับ สรรพคุณของต้นนมนาง/นมสาว
ทำความรู้จักกับ สรรพคุณของ
ต้นนมนาง/นมสาว
ต้นนมนาง/นมสาว เป็นไม้ยืนต้น และสมุนไพรพื้นบ้าน พบมากในภาคเหนือ นิยมนำเปลือกลำต้นมาต้มน้ำดื่ม โดยเฉพาะในสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยบำรุงน้ำนม กระตุ้นการสร้าง และการหลั่งน้ำนม หรือนำน้ำต้มผสมในน้ำให้สัตว์เลี้ยงดื่มเพื่อใช้ในสรรพคุณเดียวกัน
• ตระกูล : Ebenales
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : pouteria cambodiana (Pierre ex Dubard) Baehni
• ชื่อท้องถิ่น : – นมสาว – นานาง
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ต้นนมนาง/นมสาว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในพม่า ไทย จีนตอนใต้ ลาว และประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ในไทยพบแพร่กระจายในทุกจังหวัดของภาคเหนือ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นนมนาง/นมสาว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผัดใบ มีลำต้นสูงประมาณ 10 – 15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มหนา เปลือกลำต้นหนา มีสีน้ำตาลอมแดง แตกเป็นร่องตามแนวยาวของลำต้น หากเฉือนหรือผ่าเปลือกจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมา กิ่งอ่อนมีสีเทาอมดำ มีหนามยาวแหลม ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง
ใบ
ใบต้นนมนาง/นมสาว ออกเป็นใบเดี่ยว ใบมีรูปไข่กลับหัว ฐานใบขยายกว้าง กว้างประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.4-4.0 เซนติเมตร ปลายใบมน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีสีเขียวเข้ม เป็นมัน และค่อนข้างเหนียว มีขนขนาดเล็กปกคลุม แผ่นใบมองเห็นเส้นกลางใบชัดเจน มีเส้นแขนงใบ 5-7 คู่ แยกออกจากเส้นกลางใบไปจรดขอบใบ
ดอก
ต้นนมนาง/นมสาว ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบบริเวณปลายยอด แต่ละดอกมีก้านช่อดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนขนาดเล็กปกคลุม ถัดมาเป็นตัวดอกที่ด้านนอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนปกคลุมหนา ส่วนด้านในขนปกคลุมเล็กน้อย ถัดมาเป็นกลีบดอก ปลายกลีบแยกเป็นแฉก ยาวประมาณ 4-4.5 มิลลิเมตร แผ่นกลีบด้านนอกไม่มีขนปกคลุม ส่วนด้านกลีบดอกในส่วนโคนที่เชื่อมติดกันเป็นกระเปราะจะมีขนปกคลุม ประเปราะยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ถัดมาด้านในเป็นเกสรตัวผู้ มีลักษณะเหมือนปลายหอก ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีขนปกคลุม ส่วนก้านเกสรตัวเมียเป็นเส้นยาว ไม่มีขนปกคลุม
ผล
ผลต้นนมนาง/นมสาว มีรูปไข่ กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง เนื้อผลค่อนข้างหนา เมล็ดมี 1-3 เมล็ด มีลักษณะกลมแบน เมล็ดแตกเป็นร่องยาว
1. เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้าง ใช้ทำเสา เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน และอุปกรณ์ใช้สอย
2. เปลือกลำต้นนำมาต้มน้ำ
ก่อนนำน้ำต้มผสมในน้ำให้สัตว์เลี้ยงดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนม กระตุ้นการสร้างน้ำนมให้เพียงพอ
3. เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ให้ผ้าสีน้ำตาลอมแดง
เปลือก และแก่นลำต้น (รสฝาด นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยบำรุงน้ำนม ช่วยเพิ่มน้ำนม ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก
– ช่วยลดไข้
– ช่วยละลายเสมหะ
– รักษาหัด แก้อีสุกอีใส
– รักษาโรคบิด
– แก้อาการท้องร่วงท้องเสีย
– ช่วยขับลม
ราก (ต้มน้ำดื่ม)
– แก้คลื่นเหียน อาเจียน
– แก้ปวดเมื่อยเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
– ช่วยรักษาแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว
– แก้โรคหัด แก้อีสุกอีใส
– ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน
ใบ (ใช้ภายนอก)
– นำมาบด ก่อนทาแก้อาการร้อนใน
ผล (ต้มน้ำดื่ม)
– แก้โรคซาง
– แก้ไข้ตัวร้อน
สรรพคุณเด่นของต้นนมนางที่กล่าวในตำรับยา คือ เปลือกลำต้น โดยสตรีให้นมบุตรในภาคเหนือหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เป็นต้น นิยมนำเปลือกมาต้มดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนม ช่วยเพิ่มน้ำนมให้เพียงพอแก่ทารก นอกจากนั้น ยังใช้น้ำต้มผสมน้ำให้สัตว์เลี้ยงในระยะให้นมดื่ม ช่วยเพิ่มน้ำนม กระตุ้นการหลั่งน้ำนม ทั้งในสุกร โค และกระบือ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการรวบรวบเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่า เปลือกต้นนมนางไม่มีผลต่อการเพิ่มน้ำนม อาทิ การเพิ่มน้ำหนักต่อมน้ำนม และการหลั่งของน้ำนม
โพสต์โดย : POK@