สมาคมฯนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ร่วมกับภาครัฐฯ จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร รับมือหนอนข้าวโพดลายจุด
สมาคมฯนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ร่วมกับภาครัฐฯ
จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร รับมือหนอนข้าวโพดลายจุด
ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย โดย ภาคีเครือข่าย 5 บริษัทเอกชนด้านเคมีเกษตร คือ
1. บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด
2. บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด
3. คอเทวา อะกริไซแอนส์ (Corteva Agriscience)
4. BASF (THAI) CO.,LTD.(บริษัท บีเอเอสเอฟ ประเทศไทย)
5. FMC Chemical (Thailand) Ltd. (บริษัท เอฟเอ็มซี เคมิคัล (ประเทศไทย) จำกัด) ร่วมมือกับภาครัฐ มี กรมวิชาการเกษตร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดส้มมนาให้ความรู้กับเกษตรกร เกี่ยวกับความรู้เรื่อง หนอนกระทู้ลายจุด และวิธีการป้องกันและกำจัด
โดยมีเพื่อติดอาวธุเกษตกรด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เผยแพร่ข่าวสาร และ เสนอแนวทางการกำจัด การป้องกันหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับเกียรติจาก ดร. จารุวัฒน์ เถาธรรมพิทักษ์ ดร. เบญจคุณ แสงทองพราว ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร. พฤทธิชาติ ปุณวัฒโท ผู้อำนวยการกลุ่ม กีฎ-สัตวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ร่วมให้ข้อมูล
จากรายงานของกรมวิชาการเกษตรที่ประมาณการพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศไทยไว้มากกว่า 6.87 ล้านไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตกว่า 4.62 ล้านตันในปีนี้ ถ้าหากเราไม่เร่งกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เราอาจสูญเสียผลผลิตมากถึง 25 – 40% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4 – 8 พันล้านบาท ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายในการกำจัดต่อไร่อยู่ที่ 200 – 400 บาท ฉะนั้นต้นทุนการผลิตโดยรวมของผลผลิตก็อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 800 – 1,602 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นสมาคมฯ จึงเร่งจัดการอบรม ติดอาวุธทางความรู้แบบยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ และแบ่งเบาภาระภาครัฐ ซึ่งเราตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรโดยตรงและผ่านภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กว่า 5,000 คน ภายในฤดูกาลนี้”
ปลายปี 2561 ได้เกิดการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดครั้งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 50 จังหวัดในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อป้องกัน และจัดการกับหนอนกระทู้ลายจุดอย่างยั่งยืน สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย จึงต้องนำองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้า และงานวิจัยต่างๆ มาเผยแพร่ และจัดการอบรม
“ทั้งนี้ พฤติของกรรมเกษตรกรในบ้านเราที่ส่วนใหญ่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดไหนดีก็จะใช้ตลอด ใช้ซ้ำๆ อยู่ชนิดเดียวทั้งด้วยความมั่นใจที่ใช้แล้วได้ผลดี หรือความที่ไม่รู้ถึงปัญหาในการดื้อยาของแมลงศัตรูพืช การจัดการรับมือกับหนอนกระทู้ลายจุดที่ล้มเหลว เกิดมาจากการจัดการที่ผิดวิธี ผิดที่ และผิดเวลา ตลอดจนหนอนตัวนี้ดื้อยาเร็วดังนั้นต้องจัดการด้วยหลายวิธีร่วมกัน สมาคมฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยปณิธานในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเกษตรก้าวหน้ามายกระดับเกษตรกรรมไทยให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่ก้าวล้ำและถูกต้องให้เกษตรกรไทยและผู้เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องร่วมผนึกกำลังกับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดการกับศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้ข้าวโพดให้ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทย ยังครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับหนึ่งของโลก และให้บรรลุเป้าผลผลิตข้าวโพดอันเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ” ดร.วรณิกา สรุป
สำหรับการแพร่ระบาดของหนอนข้าวโพดลายจุด ถือเป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพด และยังมีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง พืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ ฝ้าย ทานตะวัน กล้วย กระเทียม ขิง มันเทศ พริก พืชตระกูลกะหล่ำ พืชตระกูลแตง และพืชผัก ที่หนอนข้าวโฟดเข้าทำลาย และเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรผู้ปลูก
และมีการรายงานการระบาดทั่วไปในทวีปอเมริกา ระบาดสู่แอฟริกาในปี 2559 และเมื่อปี 2561 มีรายงานการระบาดในอินเดีย
วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ (Fall armyworm) ระยะเวลา 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ประมาณ 100-200 ฟอง มีขนปกคลุมไข่ ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาว 3.2-4.0 เซนติเมตร จะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้
ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย มีชีวิต 10-21 วัน ตัวเต็มวัยบินได้ไกล เฉลี่ย 100 กิโลเมตร ต่อคืน
ผีเสื้อหนอนกระทู้ จะเริ่มวางไข่บนต้นข้าวโพด ตั้งแต่ข้าวโพดงอก อายุประมาณ 3-4 วัน โดยพบกลุ่มไข่ทั้งด้านบนใบ ใต้ใบ และที่ต้น หลังจากฟักจากไข่ หนอนขนาดเล็กจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบ เห็นเป็นรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบเมื่อข้าวโพดอายุ 6-7 วัน (10-11 วันหลังปลูก) ลักษณะเป็นจุดหรือเป็นแถบสีขาว หนอนตัวเล็กที่เพิ่งฟักสามารถกระจายไปยังต้นข้างเคียงโดยปลิวไปกับลม หนอนเข้าไปกัดกินอยู่ในส่วนยอดของข้าวโพด ในภาวะอากาศร้อนจัด ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) หนอนจะลงมาอยู่ใต้ดินบริเวณโคนต้น และกัดกินเนื้อเยื่อเจริญส่วนโคนต้น ทำให้ยอดข้าวโพดแสดงอาการเหี่ยว ต้นตาย ต้นที่ยอดตายบางต้นมักจะมีการแตกหน่อข้าง
การปลูกข้าวโพดในฤดูฝน หากมีการกระจายของฝนดี ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ความรุนแรงในการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะลดลง ฝนที่ตกหนักจะชะกลุ่มไข่ หรือ หนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟัก หรือทำให้หนอนที่อยู่ในดินซึ่งกำลังจะเข้าดักแด้ รวมทั้งดักแด้ที่อยู่ในดินมีชีวิตรอดน้อยลง ทำให้สามารถเว้นระยะห่างในการพ่นสาร และลดจำนวนครั้งในการพ่นสารลงได้ อย่างไรก็ตามยังต้องมีการติดตามสำรวจแปลงอย่างอย่างสม่ำเสมอ
หนอนวัย 3-6 เป็นระยะที่ทำความเสียหายมาก โดยกัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด ระยะก่อนที่ดอกตัวผู้จะโผล่หนอนจะกัดกินเกสรตัวผู้ หลังจากใบยอดคลี่ทั้งหมด ดอกตัวผู้โผล่ หนอนจะย้ายไปกัดกินไหม และเจาะเปลือกหุ้มฝักเข้าไปกัดกินภายในฝัก ดังนั้นจึงควรป้องกันกำจัดก่อนระยะติดดอก ออกฝัก (ช่วงหลังงอก – 45 วัน ) เพื่อลดปริมาณหนอนให้ได้มากที่สุด การพ่นสารในระยะออกฝัก หรือระยะสะสมน้ำหนักเมล็ด เนื่องจากหนอนได้เข้าไปอยู่ในฝัก การพ่นสารจึงไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอน
เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด จึงควรหมั่นสำรวจแปลงหลังจากข้าวโพดงอก สังเกตกลุ่มไข่ และรอยทำลาย สีขาวที่ผิวใบ เมื่อพบต้นถูกทำลาย ป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
1. เก็บกลุ่มไข่ หรือตัวหนอนทำลายทิ้ง ทำลาย 1 กลุ่มไข่ เท่ากับทำลายหนอน 100-200 ตัว
2. คลุกเมล็ดด้วยสารไซแอนทรานิลิโพรล 20% เอสซี (กลุ่ม 28) อัตรา 20 ซีซี/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม แล้วค่อย พ่นสารทางใบต่อเมื่อพบหนอนหรือการระบาด
3. เมื่อพบหนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟักจากไข่ พ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อบีที สายพันธุ์ไอซาไว หรือ สายพันธุ์ เคอร์สตาร์กี้ อัตรา 80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน
4. ในแปลงที่ไม่ใช้สารเคมี ใช้แมลงตัวห้ำ เช่น แมลงหางหนีบ หรือ มวนเพชฌฆาต หรือ มวนพิฆาต
5. ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง พ่นทางใบ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ที่ สายด่วนเฝ้าระวังหนอนกระทู้ Fall Armyworm
กรมวิชาการเกษตร โทร. 061-415-2517 หรือ http://www.doa.go.th/fc/nakhonsawan/?p=1332
โพสต์โดย : POK@