เทคนิคการปลูก และดูแล ส้มเขียวหวาน
เทคนิคการปลูก และดูแล ส้มเขียวหวาน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ส้มเขียวหวาน สามารถปลูกได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินเหนียวที่ปรับปรุงสภาพให้เหมาะสม โดยมีการยกร่อง และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ในกรณีที่ปลูกส้มเขียวหวานในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง มักจะพบปัญหาเรื่องโรครากเน่า โคนเน่าอยู่เสมอ ดินควรมีสภาพความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.7-6.9 และเนื่องจากส้มเขียวหวานเป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อน จึงไม่ชอบอากาศที่ร้อนจัดหรือหนาวจัดเกินไป แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น เช่น ภาคเหนือของไทย สภาพอากาศจะมีผลทำให้ผิวมีสีเหลืองเข้มมากขึ้น
ส้มเขียวหวานที่นิยมปลูกทั่วไปในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์บางมด ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมแป้นเล็กน้อย ก้นผลเรียบถึงเว้าเล็กน้อย ผิวมีสีเขียวอมเหลืองถึงเหลืองเข้ม ผิวเรียบ มีผิวสม่ำเสมอ เปลือกบางล่อน ปอกง่าย กลีบแยกออกจากกันง่าย มีกลีบประมาณ 11 กลีบ ผนังกลีบบางมีรกน้อย ฉ่ำน้ำ เนื้อผลสีส้ม รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
พื้นที่ลุ่ม นิยมปลูกแบบยกร่อง โดยมีขนาดของแปลงดินหลังร่องกว้างประมาณ 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.50 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และด้านล่างของร่องน้ำกว้างประมาณ 0.7 เมตร ส่วนความยาวไม่จำกัดแนวแปลงควรอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ เมื่อปรับพื้นที่เสร็จแล้ว ควรตากดินไว้ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อให้ดินแห้ง ระยะปลูกประมาณ 3.5 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 60 ต้น
พื้นที่ดอน ไม่จำเป็นต้องยกร่อง ก่อนปลูกควรปรับพื้นที่ให้เรียบและไถกลบดินให้ลึกสัก 2 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุย ระยะปลูกประมาณ 5.5-6 x 5.5-6 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 45-50 ต้น
- ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
- ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร
- ผสมดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตเข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
- ยกถุงกล้าต้นไม้วางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
- ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา)
- ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก
- กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม
- กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
- ปักไม้หลัก และผูกเชือกยึดเพื่อป้องกันลมพัดโยก
- หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
- รดน้ำให้โชก
- ทำร่มเงาเพื่อช่วยพรางแสงแดด
การให้น้ำ
การให้น้ำเป็นสิ่งจำเป็นมากในการปฏิบัติดูแลรักษา เพราะถ้าปล่อยให้ส้มเขียวหวานขาดน้ำจะทำให้ต้นโทรม โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย ระยะที่ปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำทุกวัน หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ส้มเริ่มตั้งตัวได้แล้ว การให้น้ำควรให้วันเว้นแต่เมื่อส้มโตแล้วการให้น้ำจะต้องควบคุมให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงการเจริญเติบโตและสภาพทั่ว ๆ ไป เช่น ในระยะก่อนออกดอกจะต้องการน้ำน้อย เพื่อให้มีช่วงเก็บสะสมอาหาร แต่เมื่อติดผลแล้วจะต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงผลแก เมื่อเข้าสีแล้วควรลดปริมาณน้ำลงจากปกติจะช่วยให้ผลส้มแก่เร็วขึ้น วิธีการให้น้ำมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเช่นการให้น้ำทางสายยาง การใช้เรือรดน้ำ และการให้น้ำโดยระบบสปริงเกอร์
การใส่ปุ๋ย
ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงอายุ 1 ปี ควรใส่ปุ๋ยคอกผสมไปที่ดินบนโขดส้มประมาณ 10 ก.ก. หรือ 2 บุ้งกี๋/ต้น หลังจากปลูกประมา 1 เดือน ให้หว่านปุยยูเรียต้นละ 1 ช้อนแกง หรือ 30 กรัม ส่วนปุ๋ยเคมีควรใช้สูตร 15-15-15 ต้นละ 100 กรัม ประมาณ 3 เดือน/ครั้ง สำหรับปุ๋ยคอกให้อัตรา 2-3 บุ้งกี๋ หรือ
10-15 ก.ก. ทุก 4 เดือน
ในระยะปีที่ 2- ควรใส่ปุ๋ยคอกทุก 4 เดือน อัตรา 2-3 บุ้งกี๋ หรือ 10-15 ก.ก. และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300-500 กรัม/ต้น ประมาณ 3 เดือน/ครั้ง
ในช่วงอายุ 3 ปีขึ้นไป ส้มจะเริ่มติดผล ดังนั้นในช่วงที่ผลใกล้แก่ควรให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อช่วยให้ผลส้มมีคุณภาพดีขึ้น
การตัดแต่งกิ่ง
เครื่องมือที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่ง ได้แก่ กรรไกรตัดแต่งกิ่ง เลื่อย มีด และบันได โดยเลือกตัดแต่งกิ่งแขนงที่รกทึบด้านล่างและกลางลำต้นออกเพื่อให้แสดงแดดสามารถส่องถึงโคนต้น กิ่งปลายยอดที่ห้อยลงชิดดิน กิ่งที่อ่อนแอ กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่มีลักษณะคดงอไขว้กัน ทับกัน และกิ่งที่เป็นโรคหรือถูกแมลงทำลาย
การกำจัดวัชพืช
ควรมีการกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นรก โดยใช้เครื่องมือตัดหญ้าแบบสะพายไหล่ ซึ่งสามารถตัดต้นวัชพืชได้อย่างดีไม่นิยมใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชใกล้ๆ กับต้นส้ม เพราะส้มเขียวหวานเป็นพืชที่มีระบบรากตื้นอาจจะได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืช บางประเภทได้
การเก็บเกี่ยวการตลาด และการคัดขนาดส้มเขียวหวาน
การเก็บผลส้มเขียวหวานจะเริ่มเก็บได้เมื่อผลมีอายุประมาณ 8-9 เดือนนับจากดอกบาน การเก็บนิยมใช้วิธีปลิดผลโดยใช้มือจับทางด้านใต้ผลขึ้นไปแล้วหักทับตรงบริเวณขั้วผลไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ผลก็จะหลุดออกมาได้โดยง่าย
สำหรับการซื้อขายจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน และเจ้าของสวนนำออกไปขายยังตลาดกลางเอง ส่วนใหญ่จะชั่งขายเป็นกิโลกรัม ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล ส่วนพ่อค้าเมื่อซื้อส้มแล้วจะนำมาทำการคัดขนาดเพื่อสะดวกในการกำหนดราคาขายต่อไป โดยช่วงคัดขนาดของส้มมีทั้งหมด 6 เบอร์ คือ
- เบอร์ 3 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ซ.ม. เป็นส้มขนาดเล็กที่สุด มีราคาต่ำ ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะนำไปคั้นน้ำทำน้ำส้ม
- เบอร์ 2 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5.5 ซม. มีขนาดใกล้เคียงกับส้มเบอร์ 3
- เบอร์ 1 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 ซม. เป็นส้มที่มีขนาดกลางผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมซื้อไปรับประทานสด
- เบอร์ 0 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6.5 ซม. ขนาดใกล้เคียงกับส้มเบอร์ 1 เป็นขนาดที่ผู้บริโภคนิยมเช่นกัน
- เบอร์ 00 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 ซม. เป็นส้มที่มีขนาดใหญ่มากผู้บริโภคไม่ค่อยนิยม เพราะมีเปลือกค่อนข้างหน้า เนื้อฟ่าม รสชาติจืด
- เบอร์ 000 ส้มที่มีขนาดใหญ่กว่าเบอร์ 00 ขึ้นไปถือว่าเป็นเบอร์ 000 ทั้งหมดเป็นส้มที่มีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีไม่มากนัก
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
หลังจากทำความสะอาดและคัดขนาดผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำผลส้มไปบรรจุลงในภาชนะ เช่น กล่องกระดาษ หรือตะกร้าพลาสติก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป โดยระหว่างรอจำหน่ายควรมีการเก็บรักษาผลส้มไม่ให้เสื่อมคุณภาพด้วย ซึ่งวิธีการเก็บรักษาก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเก็บไว้ในห้องเย็น เก็บไว้ในห้องมืด และวิธีเคลือบผิวส้มด้วยน้ำยา เช่น ขี้ผึ้ง พาราฟิน แฟตตี้แอสิค และเอลเตอร์ ซึ่งวิธีนี้จะรักษาส้มเขียวหวานไว้ได้นาน ประมาณ 45-60 วัน โดยส้มไม่เสื่อมคุณภาพ และน้ำหนักของส้มไม่ลดลงมากนัก
โพสต์โดย : POK@