เทคนิคการใช้สารสกัดจากสะเดา กำจัดแมลงศัตรูพืช
เทคนิคการใช้สารสกัดจากสะเดา กำจัดแมลงศัตรูพืช
สะเดา เป็นไม้โตเร็ว เจริญได้ดีในแถบร้อนที่มีปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่ 400-1,200 มม. เป็นพืชทนอากาศแห้งแล้งได้ดี สามารถขึ้นได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่จะเจริญเติบโตเร็วในสภาพดินที่ไม่ชื้นแฉะ และปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 800 มม.
การขยายพันธุ์สะเดา ใช้วิธีเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถทำได้จำนวนมาก เพราะปริมาณของผลสะเดามีมากในทุก ๆ ปี แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ได้นาน เพราะเมล็ดจะสูญเสียเปอร์เซ็นต์ความงอกงามได้เร็วมาก หลังจากเก็บผลสุกมาและเอาเนื้อออกหมดแล้วล้างเมล็ดให้สะอาด นำไปเพาะทันทีจะงอกได้ดีมาก เมื่อสะเดาเจริญเติบโตจะติดผลเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป และให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปปริมาณของผลสะเดาจะอยู่ระหว่าง 10-50 กก./ต้น/ ปี
การใช้สารสกัดจากสะเดาเพื่อลดการใช้สารฆ่าแมลงจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต ของผู้ผลิต และผู้บริโภค รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย
เอาเมล็ดสะเดาแห้งที่ประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดและเนื้อเมล็ด มาบดให้ละเอียดแล้วนำผงเมล็ดสะเดามาหมักกันน้ำในอัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 20 ลิตร โดยใช้ผงสะเดาใส่ไว้ในถุงผ้าขาวบางแล้วนำไปแช่ในน้ำ นาน 24 ชั่วโมง ใช้มือบีบถุงตรงส่วนของผงสะเดา เพื่อสารอะซาดิแรดติน ที่อยู่ในผงสะเดาสลายตัวออกมาให้มากที่สุด เมื่อจะใช้ก็ยกถุงผ้าออก พยายามบีบถุงให้น้ำในผงสะเดาออกให้หมดแล้วนำไปฉีดป้องกันกำจัดแมลง ก่อนนำไปฉีดแมลงควรผสมสารจับใบเพื่อให้สารจับกับใบพืชได้ดีขึ้น
ควรใช้สารสกัดนี้ ฉีดพ่นในเวลาเย็นจะมีผลในการฆ่าแมลงได้ดี ใช้ฉีดพ่น 5-7 วันต่อครั้ง และควรใช้สลับกับสารฆ่าแมลงเป็นครั้งคราว แต่ถ้าเป็นช่วงที่แมลงระบาดอย่างรุนแรง ต้องใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น ซึ่งจะลดความเสียหายได้รวดเร็ว
ในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ควรนำสารสกัดที่ได้มาผสมกับสาร Piperonyle butoxide(PB) สารนี้จะเป็นสารที่ช่วยหยุดยั้งการทำงานของน้ำย่อยบางชนิดที่จะทำให้แมลงมีการตายมากขึ้น เมื่อแมลงมากัดกินพืชที่มีสารนี้ แต่จากการทำลองสารสกัดสะเดากับเพลี้ยจักจั่นฝ้ายทำลายกระเจี๊ยบเขียว ไม่ได้ผสมสาร PB ก็มีประสิทธิภาพดีเท่าเทียมกับสารฆ่าแมลง ทามารอน อัตรา 50 ซีซี/20 ลิตร การผสมสารนี้อาจจะเพิ่มค่าใช้จ่ายแต่ควรจะพิจารณาใช้ในแหล่งที่แมลงมีความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง
สารอะซาดิแรดติน ให้ผลดีในการป้องกันกำจัดแมลงชนิดใดบ้าง
ให้ผลดี ในพวกแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ สำหรับหนอน เช่น หนอนใยผัก หนอนเจาะยอดคะน้า หนอนชอนใบ หนอนกระทู้ หนอนหนามเจาะสมอฝ้าย หนอนหลอดหอม และหนอนบุ้ง (ไม่ได้ผล คือ มวนแดง หมัดกระโดดตัวเต็มวัย ด้วงปีกแข็ง มวนเขียว หนอนเจาะฝัก ถั่วเขียว เพลี้ยแป้งเพลี้ยหอย)
โพสต์โดย : POK@