Social :



เทคนิคการปลูก และดูแล พริกเหลือง

20 ก.ค. 62 13:07
เทคนิคการปลูก และดูแล พริกเหลือง

เทคนิคการปลูก และดูแล พริกเหลือง

เทคนิคการปลูก และดูแล พริกเหลือง

เกษตรกรไทยส่วนใหญ่นิยมปลูกพริกกันมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว  ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ง ทำให้มีผลผลิตพริกออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม จนผลผลิตเกินความต้องการของตลาด  ทำให้มีปัญหาด้านราคาที่ตกต่ำ  ดังนั้นการผลิตพริกนอกฤดูกาลหรือวางแผนการปลูกให้พริกมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน - ธันวาคม  จึงเป็นทางออกของปัญหาด้านราคา แต่การปลูกพริกในช่วงเวลานี้ มักจะพบกับปัญหาเช่น การระบายน้ำของดินไม่ดีพอ  ต้นพริกที่ผ่านช่วงฤดูฝนมักประสบกับปัญหาโรคแอนแทรคโนส  แพร่ระบาดได้ง่ายมาก  รวมทั้ง  โรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน  เนื่องจากความชื้นในช่วงฤดูฝนเป็นหลัก  ดังนั้น การปลูกพริกเชิงการค้า   ในช่วงฤดูฝนจึงมีความเสี่ยงมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ  แต่ถ้าเกษตรกรสามารถผลิตพริกนอกฤดูได้สำเร็จ ย่อมทำให้เกิดรายได้ที่ดีกว่าการผลิตพริกตามฤดูกาลแน่นอน

ในกลุ่มพริกใหญ่ทั้งหลาย  เมื่อแบ่งตามสีของผลจะมีอยู่หลายสีและที่รู้จักกันดี  คือ  กลุ่มสีเขียว  ซึ่งมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวเหลือง และ เขียวเข้มเป็นต้น ในขณะที่พริกใหญ่ที่มีสีเหลืองเป็นกลุามที่หายากและมีราคาแพงที่สุด  ในขณะที่คนไทยยังมีความต้องการบริโภคพริกเหลืองอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อนำมาประกอบอาหารจะได้สีและรสชาติที่มีความหอมเฉพาะตัว ในบางช่วงราคาของพริกเหลืองที่มีขายในตลาดจะสูงถึง 150 บาท/กก.  ปัจจุบันพันธุ์พริกเหลืองที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปจะเป็นพันธุ์พริกเหลืองบางบัวทอง  แต่มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ค่อยทนทานต่อโรคและผลผลิตต่อไร่ต่ำ 

ในอดีตที่ผ่านมาศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร   กรมวิชาการเกษตร   ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ พริกเหลือง  โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพริกพันธุ์  พจ.013(ผลส้ม) กับพริกพันธุ์  พจ.07(ผลสีเขียวอ่อน)  และได้ทำการคัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540  เป็นต้นมา  จนได้พันธุ์พริกเหลืองที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพริกเหลืองบางบัวทอง พริกเหลืองพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์ วิจัยพืชสวนพิจิตรปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่นั้นมีลักษณะที่ดีเด่นกว่าพริกเหลืองบางบัวทองตรงที่มีขนาดของผลใหญ่เรียวยาวกว่าและให้ผลผลิตสูงกว่า ปัจจุบันทางแผนกฟาร์ม  ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้นำพันธุ์พริกเหลืองพันธุ์ใหม่มาปลูก เพื่อคัดเลือกพันธุ์ให้มีความนิ่งของสายพันธุ์มากขึ้นและทดลองปลูกขาย  ปรากฏว่าผลผลิตเป็นที่ต้องการของพ่อค้า  ผู้บริโภคและเกษตรกรที่ปลูกพริกเหลืองเป็นอย่างมาก 


การเตรียมพื้นที่ปลูกพริกเหลือง   :  เกษตรกรที่ปลูกพริกเหลืองในพื้นที่ดินใหม่ จะต้องเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์อย่างน้อยที่สุดควรตรวจความเป็นกรด-เป็นด่างของดิน ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพริกควรมีค่า  PH = 6.0-6.8  ถ้าสภาพดินเป็นกรดจะต้องมีการปรับสภาพของดิน  โดยใช้โดโลไมท์หรือปูนขาว  อัตราเฉลี่ย  300  กก./ไร่  ก่อนไถดินและควรใส่ปุ๋ยคอกอย่างน้อย  1,000  กก./ไร่  หรือ  1  ตันเมื่อไถ เมื่อไถดินเสร็จให้ตากดินไว้  3-7  วัน 

หลังตากดินเสร็จ  ต้องทำการยกแปลงปลูกให้สูงประมาณ  30  ซม.  ความยาวของแปลงตามสภาพพื้นที่  แต่ไม่ควรให้ยาวเกิน 50 เมตร ขึ้นแปลงด้วยไถผาน  7  ขึ้นแปลงไป-กลับ  4  รอบ เมื่อขึ้นรอบที่  5  ให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบเป็นแปลงพริก(ไม่ต้องใช้แรงงานคน)  จากนั้นปูพลาสติก  และ วางสายน้ำหยดหรือจัดระบบน้ำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 


เทคนิคการเพาะเมล็ดพริกเหลือง   :  การเพาะเมล็ดพริกมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน โดยในแต่ละวิธีจะมีขั้นตอนที่สำคัญเหมือนกันคือ  การนำเมล็ดพันธุ์พริกมาแช่ในน้ำอุ่น(น้ำร้อน  1  ส่วน+น้ำเย็น  1  ส่วน)  ก่อนนำไปเพาะ  30  นาที  จากนั้นจึงนำมาผ่านกระบวนการบ่มด้วยการห่อเมล็ดพริกที่ผ่านการแช่น้ำอุ่น  ด้วยผ้าขาวบาง  1  คืน  เพื่อกระตุ้นให้เมล็ดมีความงอกดี  ก่อนนำไปเพาะ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

1. หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะโดยตรง - เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด
2. หว่านเมล็ดในตะกร้าพลาสติกที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก -โดยใช้ทรายขี้เป็ดชนิดหยาบเป็นวัสดุเพาะ  โดยต้องนำทรายไปต้มฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน  เมื่อทรายเย็นตัวลงแล้วจึงนำมาเพาะกล้าได้

การดูแลถาดเพาะกล้า  :  หลังเพาะกล้าเสร็จควรมีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า  และควรระมัดระวังการให้น้ำอย่าให้แฉะจนเกินไป  เพราะจะทำให้เล็ดพริกเน่าได้ 

อายุการงอกของกล้าพริก : 
ฤดูร้อน - เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน  7-10  วัน  จากนั้นควรย้ายต้นกล้าจากถาดเพาะลงถาดหลุม 
ฤดูหนาว - เมล็ดจะงอกภายใน  15  วัน  หลังจากนี้จึงย้ายกล้าลงถาดหลุม  เพื่อเตรียมย้ายปลูกลงแปลงต่อไป 

3. เพาะเมล็ดในแปลงเพาะกล้า - เป็นวิธีการที่เกษตรกรนิยมที่สุด เพราะประหยัดต้นทุนการผลิต


การเตรียมแปลงเพาะกล้า  :   ควรขึ้นแปลงให้มีขนาดความกว้าง  2  เมตร ความยาว  5-10  เมตร  ขุดพลิกดินตาก  2  สัปดาห์  แล้วย่อยดินให้มีขนาดเล็ก  ระหว่างการย่อยดินควรผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา  25  กก.  ลงไปคลุกเคล้ากับหน้าดินในแปลงให้ทั่วจน  หน้าดินร่วนซุย  จากนั้นปรับเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ

การหว่านเมล็ด  :   ใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา  50  กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริก  1  ไร่  ทำการโรยเมล็ดลงไปในแปลงให้มีความลึก 0.5 ซม. โดยโรยเป็นแถวไปตามความกว้างของแปลง แต่ละแถวห่างกัน 10 ซม. เสร็จแล้วให้กลบดินบางๆ ให้เสมอผิวดิน แล้วคลุมหน้าแปลงด้วยฟางข้าว 

การดูแล : รดน้ำผสมสารป้องกันเชื้อรา และ รักษาความชื้นในแปลงให้สม่ำเสมอ เมื่อเห็นต้นกล้าเริ่มงอกขึ้นมาให้ทำการดึงฟางออกบ่าง เพื่อให้ต้นกล้าได้เจริญเติบโต จนกระทั่งต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 4-5
MulticollaC
ใบ จำต้องพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง จนต้นกล้าอายุได้  25 - 30  วันแล้วมีต้นสมบูรณ์จึงย้ายปลูกลงแปลงได้

การใส่ปุ๋ย : ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่มีความจำเป็น  ในการปลูกพริกทุกครั้งควรใส่เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินช่วยให้ดินร่วยซุย  โดยจะใช้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ รองก้นหลุมก่อนปลูก หลุมละ ? กก. จากนั้นจึงจะให้ปุ๋ยเคมีทางดิน เดือนละ 1 ครั้ง โดยใช้สูตร 25-7-7 เป็นปุ๋ยยืนพื้น  เร่งการเจริญเติบโตของต้นและใบ สลับกับปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น  16-16-16  หรือ 19-19-19 + ปุ๋ยบางสูตร  เช่น  แคลเซี่ยมไนเตรท (สูตร  15-0-0)  ไปช่วยลดอาการขาดธาตุแคลเซียม 

**เกษตรกรควรหมั่นสำรวจดูต้นที่ให้ผลดกเกินไปให้ดี  เพราะอาจพบอาหารขั้วนิ่ม ปลายผลเหลืองร่วงหรืออาการ  "กุ้งแห้งเทียม"  ที่เกิดจากการขาดธาตุแคลเซียมได้ 


การให้น้ำพริกเหลือง   :  พริกเหลืองเป็นพืชที่มีความต้องการน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง  การให้น้ำพริกมีหลายวิธีด้วยกัน  ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความสะดวก ประสิทธิภาพ  และ สภาพพื้นที่ปลูก  แต่การปลูกพริกเชิงการค้าจะปลูกกันบนพื้นที่เรียบ การเลือกใช้ระบบให้น้ำด้วยการปล่อยน้ำเข้าร่องแปลง ก็เพียงพอแล้ว  ซึ่งระบบนี้เป็นวิธีที่เกษตรกรผู้ปลูกพริกหลังนาทำกันอยู่แล้ว ด้วยไม่มีต้นทุนในการติดตั้งอุปกรณ์  ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับวิธีการปล่อยน้ำเข้าร่องนี้ควรมีทางระบายน้ำออกที่ดีด้วย เพื่อป้องกันการขังแฉะของน้ำในแปลงปลูก 

ในแปลงปลูกที่มีสภาพดินเป็นทรายมีปริมาณน้ำน้อย  แนะนำให้ใช้ระบบน้ำหยดจะเหมาะสมกว่า  ถึงจะมีต้นทุนค่าอุปกรณ์สูง แต่ถ้าอยู่ติดเนินเขาหรือมีแหล่งน้ำเพียงพอการติดตั้งสปริงเกอร์แบบ  Big  Gun  ก็จัดเป็นระบบการให้น้ำที่เหมาะสม  เพราะมีรัศมีในการส่งน้ำได้ถึง  1.2  ไร่ต่อหัว 

การกำจัดวัชพืช  :  การปลูกพริกแบบใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืช  จัดเป็นวิธีโบราณ แต่สามารถประหยัดต้นทุนได้ดีกว่าการคลุมด้วยพลาสติก 

ตัวอย่างการคำนวณต้นทุนแรงงานคนในการกำจัดวัชพืช  :  การกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคนจะเริ่มทำรุ่นครั้งแรก  เมื่อย้ายกล้าพริกลงแปลงปลูกได้  15  วัน  หลังจากนั้น  จะมีการทำรุ่นทุกๆ  15  วัน  จนพริกมีอายุได้  3  เดือน  จึงหยุดทำรุ่น เนื่องจากต้นพริกโตพอที่จะบังแดดไม่ให้หญ้าขึ้นได้แล้ว  เมื่อมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการทำรุ่นด้วยการใช้แรงงานคนในพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ต่อ 1 ฤดูกาล จะใช้ค่าแรงประมาณ  1,800  บาท  ต่อไร่  ในขณะที่ถ้าปลูกพริกด้วยการใช้พลาสติกคลุมแปลงจะมีต้นทุนต่อไร่ประมาณ  3,000-4,000   บาท  และการใช้พลาสติกคลุมแปลงปลูกพริกมีข้อจำกัดในเรื่องของระบบการให้น้ำ  ที่จะใช้ได้เพียงระบบน้ำหยดเท่านั้น

**สำหรับการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชนั้น  ไม่แนะนำให้ใช้  เพราะจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพริกเหลือง และอาจทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต  แต่ถ้ามีการเตรียมแปลงปลูกที่ดีจะช่วยเรื่องการลดปริมาณวัชพืชได้  เช่น  ควรตากดินเพื่อทำลายเมล็ดวัชพืชหรือทำการคราดส่วนขยายพันธุ์  เช่น  เหง้าออก  ถ้ามีการจัดการในเรื่องวัชพืชไม่ดีพอ  ก็จะเกิดผลเสียต่อการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพริกด้วย

โรคแอนแทรคโนสมในพริกเหลือง   :   เนื่องจากเป็นโรคที่กระทบต่อการให้ผลผลิตเป็นอย่างมาก  และถ้าพบว่ามีการระบาดในแปลงปลูกเมื่อไหร่  หากไม่เร่งจัดการให้ดีเกษตรกรผู้ปลูกพริกก็อาจประสบกับสภาวะขาดทุนได้  เกษตรกรจำเป็นต้องหมั่นสำรวจอาการผิดปกติของพริก หากพบว่ามีอาการใบหรือโคนต้นเริ่มมีจุดเล็กๆ ให้เห็น เป็นต้น 

การป้องกันกำจัด  :  ใช้แอนทราโคบล ฉีดพ่นคุลมแปลงปลูกเพื่อป้องกันการเกิดโรค  หลังจากฝนตกหนัก  หมอกชงจัด  หรือ พบว่าแปลงปลูกข้างเคียงเป็นโรค
**เนื่องจากพริกเหลืองเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนสได้มากที่สุด เกษตกรผู้ปลูกพริกเหลืองควรเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด 

ข้อแนะนำในการปลูกพริกเหลือง   :  จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าบางช่วงพริกเหลืองจะมีราคาแพงมาก  และอาจมีราคาขายเมื่อถึงมือผู้บริโภคสูงถึง  150  บาท/กก.  และ ในการปลูกพริกเหลือง อาจต้องลงทุนสูงเนื่องจากมีการจัดการมาก เพราะเป็นพืชที่มีการบำรุงรักษายาวนาน  หรือ  มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่  15  บาท /กก. แต่ถ้ามีการจัดการที่ดีพื้นที่ปลูก  พริกเหลือง  1  ไร่  อาจสร้างรายได้ให้ได้ถึงไร่ละ  100,000  บาท  ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าปลูกพืชอื่นหลายชนิด 









ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.rakbankerd.com/

โพสต์โดย : POK@