Social :



วิธีการปลูก และดูแลกระท้อน ให้ได้ผลผลิต แบบมืออาชีพ

19 ก.ค. 62 13:07
วิธีการปลูก และดูแลกระท้อน ให้ได้ผลผลิต แบบมืออาชีพ

วิธีการปลูก และดูแลกระท้อน ให้ได้ผลผลิต แบบมืออาชีพ

วิธีการปลูก และดูแลกระท้อน
ให้ได้ผลผลิต แบบมืออาชีพ

กระท้อน   เป็นไม้ผลเมืองร้อนอีกชนิดหนึ่งที่มีปลูกกันในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน  ส่วนมากจะปลูกกันตามสวนหลังบ้านและ มักจะเป็น พันธุ์พื้นเมือง  รสเปรี้ยว  จึงไม่มีการเอาใจใส่ดูแลรักษาต่อมาระยะหลังนี้มีผู้นิยมปลูก  กระท้อนพันธุ์ดีกันมากขึ้น  ความต้องการของตลาดก็มีมากขึ้นด้วย  จึงทำให้พื้นที่ปลูกกระท้อนพันธุ์ดีขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  เพราะนอกจากจะดูแลรักษาง่ายแล้ว  ผลผลิตยังจำหน่ายได้ราคาดีอีกด้วย เดิมแหล่งผลิตกระท้อนพันธุ์ดีจะมีเฉพาะที่จังหวัดนนทบุรีและบางเขตของกรุงเทพมหานครเท่านั้น  แต่ปัจจุบันกระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ  เช่น  ปราจีนบุรี  ชลบุรี  สุพรรณบุรี  สุราษฎร์ธานี  เป็นต้น


สภาพดินฟ้าอากาศ
เนื่องจากกระท้อนเป็นไม้ผลเมืองร้อน  จึงสามารถปลูกได้ดีแทบทุกแห่งในประเทศไทย  แต่เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี  ควรจะเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์  มีแหล่งน้ำให้อย่างเพียงพอ  ดินที่เหมาะควรเป็นดินร่วน  หรือดินร่วนปนดินเหนียวมีอินทรียวัตถุมาก  อาจกล่าวได้ว่ากระท้อนที่ปลูกในดินร่วนหรือดินเหนียวจะทำให้คุณภาพของเนื้อ  และรสชาติดีกว่าที่ปลูกในดินร่วนทราย

การปลูกกระท้อนในประเทศไทยแบ่งตามสภาพพื้นที่ได้  2  ประเภท  คือ

ประเภทสวนยกร่อง 
พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางที่ลุ่มภาคกลางพื้นที่  เดิมเป็นท้องนามีน้ำท่วมถึง จึงต้องยกร่องขึ้นเพื่อสะดวกในการระบายน้ำ ขนาดของสันร่อง  โดยทั่วไปจะกว้างไม่น้อยกว่า  6  เมตร  จะมีร่องน้ำกว้าง  1.5  เมตร  ลึก  1  เมตร ระยะปลูกสำหรับพื้นที่ยกร่องจะใช้ระยะระหว่างต้นประมาณ  6  เมตร  ในพื้นที่  1  ไร่  จะปลูกได้ประมาณ  35  ต้น 

ประเภทสวนที่ดอน
เป็นพื้นที่ที่นอกเหนือไปจากประเภทแรก  และมักไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมจึงไม่ต้อง  ยกร่อง  เมื่อไถปรับพื้นที่แล้วก็สามารถขุดหลุมปลูกได้เลย ตามปกติกระท้อนเป็นไม้ผลที่ทรงพุ่มขนาดใหญ่  แต่เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและห่อผลซึ่งจะต้องทำทุกปี  จึงนิยมตัดแต่งกิ่งนำที่จะทำให้ทรงพุ่มสูงขึ้นไปออกเสีย  ทรงพุ่มจะขยายออกด้านข้างแทนด้านบน  จึงสะดวกในการปฏิบัติงานสำหรับพื้นที่ดอนสามารถใช้ระยะปลูกตั้งแต่ 6 x 8  เมตร  ถึ ง 5 x 8  เมตร  ในพื้นที่  1  ไร่ จะปลูกได้ประมาณ  25 - 30  ต้น 

การเตรียมหลุมปลูก
ควรจะขุดหลุมให้มีขนาดไม่ต่ำกว่า  50 x 50 x 50  เมตร (กว้าง x ยาว x ลึก)  หลุมถ้ามีขนาดใหญ่ยิ่งดี  จะช่วยให้ต้นกระท้อนโตเร็วมากยิ่งขึ้น  ผสมดินที่ขุดขึ้นมากับปุ๋ยคอกเก่า ๆ  (ประมาณ  10  กก. ต่อหลุม)  รองก้นหลุม ด้วยปุ๋ยหินฟอสเฟต  ประมาณ  1  กิโลกรัมต่อหลุม  กลบดินผสมลงในหลุมให้พูนขึ้นกว่าระดับปากหลุมเล็กน้อย วางต้นกระท้อนที่เตรียมไว้ (เอาถุงที่ชำออกก่อน)  ปลูกลงกลางหลุมกดดินให้แน่น  ใช้ไม้หลักป้ายยึดลำต้นกันลมพัดโยก  รดน้ำให้ชุ่ม  ถ้ามีแดดจัดควรมีการพลางแดดให้ด้วยจะทำให้ต้นกระท้อนตั้งตัวเร็วขึ้น


หลังจากปลูกแล้วจะต้องคอยดูแลรักษาต้นกระท้อนอย่างสม่ำเสมอ  ถึงแม้ว่ากระท้อนจะเป็นไม้ผลที่ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวนมากนัก  แต่การบำรุงรักษาให้ดีอยู่เสมอจะช่วยให้ต้นกระท้อนเจริญเติบโตเร็วมาก  การดูแลรักษาโดยทั่วไปมีดังนี้

ปกติกระท้อนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ขณะเดียวกันก็ทนสภาพความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดีในช่วงที่กระท้อนยัง  เล็กอยู่จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นการให้น้ำก็จะมีช่วงห่างขึ้น  อย่างไรก็ดีในช่วงที่ต้นกระท้อน  เริ่มออกช่อดอกและติดผลจะต้องให้น้ำอย่างต่อเนื่อง  จะช่วยให้

1. ช่อดอกมีความสมบูรณ์  การติดผลดี
2. ผลที่ติดแล้วมีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ  สวนที่มีการให้น้ำดีจะทำให้ผลมีขนาดโตกว่าสวนที่  ขาดแคลนน้ำ
3. ลดปัญหาเรื่องผลแตกได้  ซึ่งปัญหานี้จะพบเสมอในสวนที่ขาดแคลนน้ำ


การตัดแต่งกิ่ง
กระท้อนในแต่ละปีจะทำเพียงเล็กน้อย  สำหรับต้นที่ยังไม่ให้ผลมักจะให้มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่  มีการตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบออกบ้าง  เมื่อกระท้อนเริ่มให้ผลผลิตแล้ว ก ารตัดแต่งจะมีมากขึ้นเล็กน้อย  โดยจะทำการตัดแต่งกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วสิ่งที่ควรพิจารณาตัดแต่งออกมี
Lif

1. กิ่งที่ถูกโรคแมลงเข้าทำลาย  กิ่งแห้งตาย
2. กิ่งที่แน่นทึบอยู่ในทรงพุ่ม
3. กิ่งนำซึ่งมักจะเจริญไปในทางด้านสูง  ซึ่งจะทำให้ทรงพุ่มสูงขึ้น ควรจะทำการตัดเพื่อควบคุมทรงพุ่มให้มีการเจริญออกทางด้านกว้างมากกว่า เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา  ตลอดจนการห่อผลและเก็บเกี่ยวผลผลิต

ต้นกระท้อนที่ยังไม่ให้ผลจะเน้นไปที่เพื่อบำรุงต้นให้มีการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้านเป็นส่วนใหญ่  ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยคอก  และปุ๋ยเคมีสูตรเสมอเป็นหลัก  เช่น  สูตร  15-15-15  หรือ  16-16-16  อัตราที่ใส่ควรจะไม่มากนักแต่ควรใส่บ่อยครั้งจะดีกว่า  เช่น  3  เดือน/ครั้ง
เมื่อต้นกระท้อนให้ผลผลิตแล้ว  การใส่ปุ๋ยจะเปลี่ยนสูตรไปตามระยะเวลาของความต้องการ กล่าวคือ

1. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  จะใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ  เช่น  15-15-15  เพื่อช่วยบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์เหมือนเดิม
2. ช่วงก่อนที่ต้นกระท้อนจะพักตัว  ควรจะมีการใส่ปุ๋ยเพื่อช่วยให้ต้นมีการเก็บสะสมอาหารเพื่อการสร้างตาดอกดีขึ้น  โดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร  9-24-24  หรือ  12-24-12  ในเดือนตุลาคม
3. ระยะติดผลแล้ว  1  เดือน ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ  เช่น  15-15-15  เพื่อบำรุงผลให้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่
4. ระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย  20  วัน  ควรมีการใส่ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียมสูง  เช่น  13-13-21  เพื่อช่วยให้มีการปรับปรุงคุณภาพของผลให้ดีขึ้น  เช่น  เนื้อมีความนุ่มขึ้น  รสชาติหวานขึ้น

สำหรับอัตราที่ใช้ควรพิจารณาจากขนาดของทรงพุ่ม  สภาพความสมบูรณ์ของต้นและปริมาณผลผลิตในแต่ ละปี ตัวอย่างเช่น  ต้นอายุ  10  ปี มีขนาดทรงพุ่มกว้างประมาณ  8  เมตร  มีการให้ผลผลิตดีอย่างสม่ำเสมอ  ก็ควรให้ปุ๋ย  ไม่ต่ำกว่า  8  กก./ปี แบ่งใส่เป็น  4  ครั้ง (ครั้งละ  2  กก.)  โดยพิจารณาใช้สูตรตามช่วงระยะเวลาที่ได้กล่าวแล้ว  ส่วนปุ๋ยคอกอาจใส่ในช่วงหลังจากเก็บผลแล้วครั้งเดียวก็พอ  อัตราการใส่แล้วแต่ชนิดของปุ๋ยคอกที่ใช้  สำหรับต้นอายุ  10  ปี  อาจใช้ อัตราตั้งแต่  25 - 50  กก./ต้น


การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ผลกระท้อนแต่ละพันธุ์จะทะยอยแก่  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของแต่ละปี  การสังเกตผลแก่อาจจะดูได้หลายวิธี  ได้แก่  การนับอายุของผล  เช่น  พันธุ์เบา  (ทับทิม,  เขียวหวาน, ทับทิมทอง)  จะมีอายุตั้งแต่ดอกบานถึงเก็บเกี่ยวประมาณ  130 - 150  วัน  ถ้าเป็นพันธุ์หนัก (เทพรส ปุยฝ้าย อีล่า นิ่มนวล)  จะประมาณ  170 - 180  วัน  เป็นต้น  นอกจากนั้นอาจสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายในของผล  เช่น  เนื้อนุ่มขึ้น  ความฝาดลดลงหรือลักษณะภายนอกผล  เช่น  การเปลี่ยนสีผิวเป็นสีเหลือง  หรือสีน้ำตาลจนถึงก้นผลเป็นต้น เมื่อผลกระท้อนแก่แล้ว  หากปล่อยไว้บนต้นต่อไปอีก เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสีที่ไส้กลางผลเป็นสีน้ำตาล  และมีกลิ่นบูดเกิดขึ้นเรียกว่าไส้เป็นน้ำหมาก  และยังทำให้ผลร่วงมากขึ้นด้วย

การเก็บเกี่ยวผลอาจใช้บันไดหรือพะองสำหรับขึ้นไปเก็บผลได้โดยใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผลใส่ตะกร้า  หรือใช้กรรไกรสำหรับเก็บผลไม้ที่มีที่หนีบขั้วผลด้วยก็จะสะดวกขึ้น  นำไปแกะเอาวัสดุที่ใช้ห่อออก  เพื่อคัดขนาดเพื่อของผลและทำความสะอาดรอการจำหน่ายต่อไป










ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.baanjomyut.com/

โพสต์โดย : POK@