ทำความรู้จักกับ ช้าววัชพืช
ทำความรู้จักกับ ช้าววัชพืช
การทำความเข้าใจว่า
ข้าววัชพืช คืออะไร ต้องเริ่มจากการแยกแยะความแตกต่าง ระหว่าง
ข้าวป่า ข้าวปลูก และ
ข้าววัชพืช ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวจำแนกได้เป็น
-ข้าปลูก ลักษณะเมล็ดจะยาว ไม่มีหาง ออกรวงใกล้เคียงกัน สุกแก่พร้อมกันทั้งรวง และเมล็ดข้าวเต็มมากกว่า 95% เมล็ดร่วงยากเมื่อเอามือลูบรวง
-ข้าวป่า เมล็ดสั้นป้อม หางยาวกว่า 10 เท่าของเมล็ด สังเกตุได้ชัดเจน ออกรวงไม่พร้อมกัน สุกแก่ไม่พร้อมกันทั้งรวง ข้าวเต็มเมล็ดประมาณ 5-10% เมล็ดร่วงง่ายเมื่อเอามือลูบรวง
-ข้าววัชพืช บางชนิดมีเมล็ดสั้นป้อม บางชนิดมีเมล็ดยาว ไม่มีหาง หรือมีแต่ไม่ยาวมาก ออกรวงไม่พร้อมกัน สุกแก่ไม่พร้อมกัน บางชนิดสุกแก่พร้อมกัน ข้าวเต็มเมล็ดจะมีประมาณ 50-95% เมื่อเอามือลูบเมล็ดจะร่วงง่ายมาก แต่บางชนิดก็ร่วงยาก
ข้าวปลูก ก็คือข้าวที่ชาวนาใช้ปลูกตามปกติทั่วไป สายพันธุ์แล้วแต่การคัดเลือกนำเอามาปลูก โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oryzasativa L. ข้าวปลูกในประเทศไทยนั้น มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่จดทะเบียนเป็นข้าว GI แล้วแค่ 8 สายพันธุ์ ดู สายพันธุ์ข้าว GI ในประเทศไทย ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยนั้น เป็นข้าวที่มีสายพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกให้มีลักษณะที่ต้องการแล้ว เช่น ให้ผลผลิตสูง ข้าวสารมีสีขาวใส คุณภาพหุงขึ้นหม้อ หุงต้มนุ่มและหอม ไปจนถึงร่วนแข็ง ต้านทานต่อโรคหรือแมลงศตรูพืชที่สำคัญได้ และทุกสายพันธุ์จะมีลักษณะสำคัญคือ เมล็ดจะสุกแก่ใกล้เคียงกัน คือ หลังบานดอกแล้วประมาณ 28-30 วัน ก็พร้อมจะถูกเก็บเกี่ยวและถูกนวดให้หลุดจากรวงได้เลย แต่จะไม่สุกแก่ก่อนเวลา ไม่หลุดร่วงเองได้ง่าย และข้าวเปลือกจะไม่มีหางหรือถ้ามีก็จะสั้นมาก
ข้าวป่า คือบรรพบุรุษของข้าวที่ใช้ปลูกกันในปัจจุบัน มีชื่อว่า Oryza rufipogon L. ที่มีตามธรรมชาติอยู่แล้ว และสามารถพบได้ทั้งในที่ลุ่มลึก และบนที่ดอน ข้าวป่ามีหลายชนิดแต่มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ เมล็ดในรวงเดียวกันจะสุกแก่ไม่พร้อมกัน แต่จะสุกในช่วงตั้งแต่ 9-30 วัน เมื่อสุกแก่ก็จะหลุดร่วงได้เอง และเมล็ดข้าวป่านั้น ยังมีระยะพักตัวที่หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีระยะพักตัว คือหล่นลงดินแล้วงอกเลยภายใน 1-2 วันไปจนถึงระยะพักตัวหลายปี คือสามารถเก็บไว้ปลูกในปีถัดไปได้หลายปีโดยไม่เน่าเสียและอัตราการงอกสูง เมล็ดข้าวเปลือกและข้าวกล้องของข้าวป่านั้นจะมีหลายสี บางชนิดเมล็ดอาจมีหางยาวกว่า 10 เท่าตัวของเมล็ดข้าว และมีหลายสีสัน
ข้าววัชพืช มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า
Weedy Rice มีลักษณะเหมือนต้นข้าวทั่วไปจนแยกไม่ออกในระยะกล้า มีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่นตามลักษณะเด่น เช่น ข้าวหาง เพราะมีหางยาวเหมือนข้าวป่า หรือเหมาเรียกข้าวป่าว่าข้าววัชพืชไปเลย บางแห่งเรียก ข้าวดีด ข้าวเด้ง เพราะเมล็ดแก่และถูกลมพัดหรือคนไปสัมผัสรวง เมล็ดก็จะร่วงทันที บางแห่งเรียก ข้าวลาย เพราะเมล็ดมีเปลือกลาย บางแห่งเรียกข้าวแดง เพราะเมื่อแกะเปลือกออกจะพบว่าเมล็ดข้าวกล้องมีสีแดง บางแห่งเรียก ข้าวดาวกระจาย เพราะจากลักษณะรวงจะกางออกและเมื่อเมล็ดแก่จะร่วงและกระเด็นกระจายไปรอบๆ ต้นข้าว
จากการศึกษาของหน่วยงานหลายแห่ง พบว่าข้าววัชพืช นั้น เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างข้าวป่าธรรมชาติ Oryza rufipogon L. กับข้าวปลูก โดยข้าวลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีการกระจายตัวของสายพันธุ์เป็นหลายลักษณะ โดยอัตราการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่า และระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืชลูกผสมที่กระจายตัวและเจริญเติบโตในแปลงนา โดยลักษณะส่วนใหญ่ ไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกร
เพราะการระบาดหรือมีข้าววัชพืชในแปลงนาจำนวนมากๆ นั่นหมายถึงการที่ชาวนาจะได้ข้าวที่มีทั้งคุณภาพของเมล็ดและปริมาณที่ลดลงเป็นจำนวนมาก
ปัญหาข้าววัชพืช ที่แก้ไม่ตก
ด้วยมีสายพันธุ์มาจากข้าวป่าเข้มข้น และเป็นนักสู้ชั้นสูง ทำให้ข้าววัชพืชมีการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีจนไปแย่งธาตุอาหารจากข้าวปลูกเดิมจนหมดทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ลดลง แถมข้าววัชพืชบางชนิดนั้น จะมีช่วงระยะเวลาการออกดอกเร็วกว่าข้าวปลูก มีการผสมพันธุ์เร็วกว่าทำให้ได้เมล็ดข้าวไวกว่าข้าวปลูก ก่อนเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวปลูกตามปกติ ข้าววัชพืชก็ได้เมล็ดพร้อมที่จะงอกเป็นต้นใหม่และร่วงลงก่อนการเกี่ยวข้าว และมักจะหลุดรอดการเก็บเกี่ยวข้าวทุกครั้ง ทำให้มีเมล็ดที่พร้อมจะงอกสะสมอยู่ในแปลงนามากมาย ซึ่งจะเพิ่มความหนาแน่นในฤดูต่อไปๆ และทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้ลดลงไปเรื่อยๆ หากมีการระบาดหนัก
แม้ว่าจะมีการเก็บเกี่ยวข้าววัชพืชไปเพิ่มรายได้และได้น้ำหนักดีจริง แต่เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงที่ปะปนอยู่กับข้าวปลูก หรือเปอร์เซ็นเนื้อแป้งเต็มเมล็ดที่ได้น้อย ทำให้ถูกตัดราคารับซื้อจากโรงสีอยู่บ่อยๆ เรียกได้ว่า ต้นทุนเท่าเดิมแต่ผลผลิตลดลง แบบนี้ก็อยู่ไม่ได้
โพสต์โดย : POK@