"แม่ลานคำ" กับหลากหลายความเชื่อเพื่อรักษ์ป่า
ผู้อาวุโสของหมู่บ้านบอกว่า "แม่ลานคำ" มี ผู้คนอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า 700 ปี เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลั๊วะที่ทิ้งร่องรอยหลักฐานการตั้งถิ่นฐานไว้หลายอย่าง เช่น ซากวัดเก่า ป่าช้าเก่า ซึ่งยังคงเหลือให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน หลังจากที่ชาวลั๊วะย้ายถิ่นฐานออกไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ชาวปะกาเกอะญอก็เข้ามาอาศัยแทนจนถึงปัจจุบัน
"แม่ลานคำ" ขึ้นอยู่กับ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบถึง 15 ดอย ซึ่งดอยสูงเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วย น้อยใหญ่ถึง 22 สาย ทุกสายไหลมารวมเป็นแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่ลานเงิน แม่ลานคำ และแม่ลานหลวง ซึ่งทั้ง 3 สายนี้ ก็ไหลลงสู่แม่น้ำปิง เลี้ยงชีวิตคนพื้นราบนับหลายล้านคน และด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาและลำห้วยนี้เอง แม่ลานคำจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ ทั้งป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่เกือบ 20,000 ไร่
ด้วยสภาพหมู่บ้านที่ค่อนข้างกว้าง ชาวบ้านจึงได้แบ่งการดูแลกันเองออกเป็น 5 หย่อมบ้าน ตามสภาพภูมิศาสตร์ ตลอดจนมีการแบ่งพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินอย่างชัดเจน เช่น ที่อยู่อาศัย ที่นา ที่สวน พื้นที่ทำไร่หมุนเวียน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย เป็นต้น
ความสมบูรณ์ของพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร หัตถกรรม การหาของป่าและการทำไร่หมุนเวียน ที่เป็นไปเพื่อการเลี้ยงชีพในครอบครัว ใช้สัตว์ เป็นแรงงาน มีการลงแขกเอาแรง มีความรักหวงแหน และเอื้อต่อธรรมชาติรอบตัว สั่งสมภูมิปัญญา ประเพณีความเชื่อ เพื่อการอยู่ร่วมกับป่าหลายประการ เช่น ระบบเหมือง ฝาย ที่ทำสืบต่อกันมานับร้อยปี ระบบการจัดการป่ารูปแบบต่างๆ เช่น ป่าเตปอ ตะวีโดะ ตะชั๊วะไข่ เตหมื่อเมอ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไร่หมุนเวียน ที่เป็นบ่อเกิด ของการอนุรักษ์พันธุกรรมดั้งเดิมของพันธุ์พืชไว้ได้ไม่น้อยกว่า 50 ชนิด ให้คงอยู่
อย่างไรก็ดี การพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เข้าไปถึงหมู่บ้าน ได้ส่งผลให้หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก อาทิ การเปิดให้สัมปทานตัดไม้ ที่มีผล กระทบต่อประเพณีการรักษาป่าของปะกาเกอะญอ ทำให้ทรัพยากรเริ่มลดน้อยถอยลง อีกทั้งการพัฒนายังได้นำความเชื่อสมัยใหม่เข้ามา จนยากที่ชาวบ้านจะทัดทานได้ ชาว บ้านบางส่วนก็หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านที่มองเห็นผลกระทบจากระบบทุนนิยมจึงได้รวมตัวกันนำประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อที่ยึดถือมาตั้งแต่โบราณมา ฟื้นฟูป่าและธรรมชาติของชุมชนให้สมบูรณ์อีกครั้ง
"ป่าเดปอ" เป็นความเชื่อที่ว่า เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ให้นำสายสะดือเด็กใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปแขวนที่ต้นไม้ เพื่อไม่ให้ใครตัดต้นไม้ ใครฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นไก่ 1 คู่ และ ถูกคนเฒ่าคนแก่สาปแช่ง
"ตะวีโดะ" เป็นความเชื่อที่ว่า หากเด็กที่เกิดเสียชีวิตลง ชาวบ้านจะนำไปฝังไว้ในป่า เชื่อว่าป่าผืนนี้จะมีอาถรรพ์ และหากคนท้องเข้าไปในป่าจะแท้งลูก คนทั่วไปก็เข้าไม่ได้ จะ เข้าได้ก็เฉพาะหมอผีเท่านั้น ซึ่งตะวีโดะนี้ เป็นกลอุบายที่ทำให้คนไม่เข้าไปตัดไม้ทำลายป่า
"ตะชั๊วะไข่" หรือป่าช้าของชาวปะกาเกอะญอ ซึ่งโดยความเชื่อแต่โบราณ จะห้ามไม่ให้เข้าไปตัดไม้หรือหาของป่าโดยเด็ดขาด
"เดหมื่อเมอ" เป็นป่าพื้นที่ข้างลำห้วย มีลักษณะเป็นกิ่ว ซึ่งคนเฒ่าคนแก่จะเป็นผู้กำหนดให้เป็นบริเวณที่ห้ามตัดไม้ หรือทำไร่ทำนา แต่สามารถหาของป่าได้
"ตะเดโดะ" เ ป็นพื้นที่กิ่วดอย ที่เชื่อว่าเป็นทางเดินของผี จึงห้ามทำไร่ ห้ามสร้างบ้าน ใครฝ่าฝืนอาจเจ็บไข้ได้ป่วยถึงตายได้
"ดูตะเอ่อ" เป็นป่าใหญ่ที่เป็นป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน เป็นบริเวณที่ห้ามทำไร่ ห้ามตัดไม้ หากฝ่าฝืนอาจเจ็บไข้ได้ป่วย
นอกจากนี้ เมื่อมีสมาชิกในหมู่บ้านเสียชีวิตลง จะห้ามสมาชิกในครัวเรือนผู้เสียชีวิตไปตัดต้นไม้ และล่าสัตว์เป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่วนสมาชิกในหมู่บ้านจะห้ามเป็นระยะเวลา 7 วัน ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าขวัญของผู้ตายกำลังจะไปเกิดในธรรมชาติ ซึ่งเป็นขวัญ 37 อย่างของชาวบ้าน หากไปตัดต้นไม้หรือทำลายสัตว์ก็เท่ากับไปทำลายวิญญาณผู้ตาย
ความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้ ได้กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมการจัดการทรัพยากรของสมาชิกในหมู่บ้านให้มีระเบียบแบบแผน ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายที่ อยู่ในใจของทุกคน จนทำให้แม่ลานคำในวันนี้ กลับอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง
ขอบขอบคุณข้อมูลจาก:/horoscope.thaiza.com
โพสต์โดย : monnyboy