เทคนิคการปลูกตำลึงเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้แบบมืออาชีพ
เทคนิคการปลูกตำลึงเชิงพาณิชย์
เพื่อสร้างรายได้แบบมืออาชีพ
นายบุญลือ นัยเนตร อายุ 60 ปี ประกอบอาชีพปลูกผักตำลึงตัดยอดจำหน่าย บนพื้นที่จำนวน 1 ไร่ 2 งาน ลุงบุญลือเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วก่อนที่จะมาปลูก
ตำลึง ได้ทำการเกษตรด้านอื่นมาแล้วหลายอย่าง เช่น ปลูกข้าวโพดหวาน เลี้ยงปลาแรดในกระชัง และปลูกมะเขือ แต่ว่าทุกอย่างที่ทำนั้นต้นทุนสูงไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา หรือสารเคมีตัวอื่นๆ โดยเมื่อก่อนนั้นก็ปลูกตำลึงด้วยเช่นเดียวกันแต่ลักษณะการปลูกจะเป็นการปลูกแซมเอาไว้ แต่รายรับที่ได้จาก
การปลูกตำลึงแซมแถว กลับกลายมาเป็นต้นทุนในการซื้อปุ๋ยบำรุงพืชตัวอื่นได้อย่างดี จึงเริ่มคิดได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เราก็สามารถปลูกตำลึงไว้เป็นพืชหลัก สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างดี จึงเริ่มปลูกตำลึงจำหน่ายเชิงการค้าอย่างจริงจังมาจนถึงปัจจุบัน ดังมีวิธีการจัดการและดูแลรักษา ดังนี้
- ยกร่อ งไม่ต้องกว้างมากระยะห่างประมาณ 1.5 เมตร
- ทำค้าง ด้วยไม้ไผ่ขัด ความสูงที่เหมาะสมสำหรับการเก็บตำลึงอยู่ที่ 1.20 เมตร
- ใช้มูลสัตว์ผสมกับดินในแนวร่อง เพื่อเป็นการเตรียมดิน
- รดน้ำดินให้ชุ่ม แล้วจึงนำกิ่งพันธุ์ตำลึงที่ไปตัดมาจากตามป่า ฝังเป็นแนวยาวตามร่อง ใช้ดินกลบหัวท้าย ตรงกลางนั้นให้อยู่เหนือดิน หรืออีกหนึ่งวิธีคือ ปักกิ่งพันธุ์ลงไปตามร่อง
- การให้น้ำ ถ้าไม่ใช่ฤดูฝน จะต้องให้น้ำ 2-3 วันครั้ง โดยปล่อยน้ำลงตามร่องให้เต็มแล้วซึมลงไปในดิน
- การเก็บตำลึง จะต้องทำการเก็บแต่เช้า เวลาประมาณ ตี 5 เก็บถึง 3 โมงเช้า ความยาวประมาณ 50 เซ็นติเมตร แล้วกำด้วยกาบกล้วย 1 กำจะมีน้ำหนัก 4 ขีด ขายส่งราคากำละ 3 - 5 บาทต่อกำ (ถ้าเก็บตอนสาย เถาหนวดตำลึงจะดำไม่น่ารับประทาน)
- โรคและแมลง จะใช้น้ำส้มควันไม้ และปุ๋ยน้ำชีวภาพในการฉีดพ่น 2 อาทิตย์ 1 ครั้ง
- ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยยูเรีย พรมบางๆ เดือนละ 2 ครั้ง ส่วนเรื่องยาฆ่าหญ้านั้น จะไม่ใช้เพราะ ตำลึงเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสารเคมีเกือบทุกประเภท ถ้าใช้จะตาย หรือใบกรอบเก็บไปจำหน่ายไม่ได้
- อุปสรรคปัญหา ในเรื่องของการเก็บยอดตำลึง เก็บได้ไม่หมดเพราะเจริญเติบโตเร็ว ซึ่งในหนึ่งวันลุงบุญลือสามารถเก็บได้ประมาณ 100 กำต่อวันเพราะใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก
โพสต์โดย : POK@