เทคนิคการปลูก และดูแล ขิงแดง
เทคนิคการปลูก และดูแล ขิงแดง
ขิงแดง (Red ginger) เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ให้ดอกสีแดงสดสวยงาม และออกดอกบานนาน เป็นพันธุ์ไม้ที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และมีความคงทนต่อสภาพอากาศ ปลูกได้ดีในที่โล่ง และแดดส่องถึง มักพบปลูกมากในสวนหย่อมหรือสวนในบ้านเรือน ในบางท้องถิ่นมีการปลูกมากเพื่อตัดดอกส่งจำหน่าย ซึ่งมีทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศที่มีการส่งจำหน่าย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
ขิงแดงจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับข่า มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า (rhizome) ลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบซ้อนกันแน่น สูงประมาณ 1 - 2 เมตร ในสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ และปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมอาจสูงมากกว่า 3 เมตร เมื่อโตกอจะอัดแน่นเป็นกอใหญ่ แตกเหง้าออกรอบข้าง ใบมีรูปรี ดอกออกปลายยอด ประกอบด้วยกลีบดอกประดับสีแดงสดเรียงซ้อนกัน คล้ายดอกกระเจียว กลีบดอกประดับเป็นรูปไข่ปลายแหลม ส่วนดอกแท้มีลักษณะรูปกรวยสีขาว อยู่ภายในกลีบดอกประดับ ซึ่งจะแห้งภายในไม่กี่วัน เหลือแต่กลีบดอกประดับสีแดงสดใสแทน
1. การใช้เมล็ด
การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเป็นวิธีการที่ไม่ได้รับความนิยม เนื่องด้วยขิงแดงจะติดเมล็ดยากมาก นอกจากต้นขิงแดงเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการติดเมล็ด
2. การใช้ตะเกียง (Aerial offshoots)
ตะเกียงหรือหน่อเล็ก ๆ มักพบงอกที่ช่อดอกบริเวณโคนกลีบดอกประดับ ซึ่งเก็บสามารถหน่อเล็กๆนี้นำมาปลูกขยายต้นได้ทันที แต่แนะนำให้นำมาเพาะในถุงเพาะชำเพื่อให้หน่อติด และตั้งตัวได้เสียก่อน ก่อนนำปลูกลงแปลงใหญ่ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ถือว่าไม่ได้รับความนิยม เนื่องด้วยปริมาณตะเกียงมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ
3. การแยกหน่อ (Division)
หน่อใหม่เกิดแยกออกจากเหง้าต้นแม่ สามารถขุดแยกออกจากต้นแม่ โดยเลือกหน่อที่เพิ่งงอกออกใหม่ ไม่แก่มาก และหน่อที่แยกต้องมีรากติดมาด้วยจะดีที่สุด ซึ่งอาจปลูกลงแปลงทันทีที่ย้ายมาหรือปลูกใส่ถุงเพาะชำพลาสติกเพื่อให้ต้นขิงแดงตั้งตัวได้เสียก่อนก็ได้ วิธีการนี้ถือเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะสามารถหาหน่อใหม่ได้ง่าย เพียงพอกับความต้องการ และง่ายต่อการจัดการนอกจากนัั้น สามารถหาซื้อเหง้าพันธุ์ขิงแดงได้ตามฟาร์มหรือตลาดพันธุ์ไม้ประดับได้ด้วย
1. การเตรียมแปลง
พื้นที่ดอนหรือค่อนข้างแห้ง ให้เตรียมแปลงด้วยการยกร่องลึกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 60-80 เซนติเมตร แต่ละแปลงกว้างประมาณ 2-3 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่
พื้นที่ลุ่ม ดินเหนียว น้ำท่วมขังเร็ว ให้เตรียมแปลงด้วยการยกร่องลึกประมาณ 1 เมตร กว้าง 1 เมตร แปลงปลูก กว้างประมาณ 1-2 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่
2. ระยะปลูก
ควรปลูกในระยะ 1 x 1 เมตร/หลุม โดยใช้หน่อพันธุ์หรือเหง้าที่แยกออกจากต้นแม่ และเพาะในถุงเพาะชำจนติดแล้ว แต่หากใช้หน่อพันธุ์ที่ขุดใหม่ และทำการปลูกทันที ให้ใช้ประมาณ 2 หน่อ/หลุม เพื่อป้องกันการตายของหน่อหรืออีกวิธีการ คือใช้เพียง 1 หน่อ/หลุม หากหลุมใดไม่ติดให้นำหน่อมาปลูกแทนใหม่ก็ได้ หลังจากปลูกเสร็จให้รดน้ำให้ชุ่มทันที
การให้น้ำ
โดยสภาพทั่วไปขิงแดงจะต้องการความชื้นของดินที่สูง และมีการระบายน้ำดี จึงต้องให้น้ำอย่างเพียงพอหรือให้ในปริมาณดินยังมีความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งระวังไม่ควรให้น้ำมากเกินไปจนเปียกชื้นแฉะหรือมีน้ำท่วมขัง ซึ่งจะให้น้ำประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน ก็เพียงพอ
สิ่งสำคัญของการปลูกขิงแดงคือการรักษาความชุ่มชื้นในดินที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงอาศัยการให้น้ำเท่านั้น แต่หากมีการจัดการแปลงปลูกที่ใส่ปุ๋ยคอกหรือเศษใบไม้ในแปลง วิธีการนี้จะช่วยรักษาความชื้นในดินได้เป็นอย่างดี รวมถึงการปลูกต้นไม้รอบแปลงจะช่วยในการรักษาความชื้นของแปลงได้ดีเช่นกัน
การให้ปุ๋ย
การปลูกขิงแดงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีมาก การใส่ปุ๋ยนั้นจะใส่ในช่วงปีแรกประมาณ 3-5 ครั้ง โดยให้ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-0 ในอัตราส่วน 1: 10 ประมาณ 100 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนในช่วงหลังที่ขิงแดงแตกหน่อ และเจริญเติบโตเต็มที่ในระยะหลังปีแรก ให้ทำการใส่ปุ๋ยคอกอย่างเดียวหรืออาจใส่ผสมร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 ในอัตราเดียวกัน โดยใส่ประมาณปีละ 2 ครั้ง ก็ได้
การกำจัดวัชพืช
การปลูกขิงแดงในช่วงแรกอาจต้องมีการกำจัดวัชพืชในแปลงบ้าง โดยเฉพาะรอบข้างกอขิงแดงที่อาจพบวัชพืชขึ้นได้ ซึ่งควรทำการถอนวัชพืชอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน แต่หลังจากขิงแดงเติบโต และมีการขยายหน่อมากขึ้นมักไม่พบปัญหาเรื่องวัชพืชหรือหากพบเกิดบริเวณข้างกอขิงก็มักไม่มีผลกระทบมาก แต่ทั้งนี้ควรเผฝ้าระวังวัชพืชด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัชพืชที่โตเร็ว และมีลำต้นใหญ่สูงนั้นให้ทำการถอนกำจัดเป็นระยะ
การตัดแต่ง
ทำการตัดต้นที่ไม่สมบูรณ์หรือเกิดโรคแมลงทำลายทิ้ง โดยตัดดอกชิดโคนต้น เหนือดิน 2 - 3 นิ้ว โดยให้ทำการตรวจแปลงทุกวันหรืออย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งจะเป็นการดีที่สุด ส่วนการตัดดอกให้ใช้วิธีการเหมือนกัน โดยตัดให้ไกล้โคนต้นมากที่สุด
โรค และแมลง ไม่พบโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
แมลงที่เข้าทำลาย ได้แก่ เพลี้ยแป้ง ทำลายดอก ป้องกัน และกำจัดได้โดยตัดดอกที่ถูกทำลายทิ้ง ซึ่งควรทิ้งให้ห่างจากแปลงมากที่สุด ส่วนสารเคมีอาจใช้สารเคมี เช่น อโซดริน ฉีดพ่นทั่วแปลง สำหรับหนอนเจาะลำต้น มักพบเจาะกินแกนอ่อนต้นขิงแดง ทำให้ปลายยอดแห้งตายซึ่งสามารถสังเกตุเห็นได้ชัดเจน การป้องกัน และกำจัดนั้นทำได้โดยตัดต้นที่ถูกหนอนเจาะกินทิ้ง การใช้สารเคมี เช่น แลนเนท ฉีดพ่นทั่วแปลง
การเก็บเกี่ยว
การตัดดอกให้คัดเลือกตัดดอกที่บานแล้วบางส่วนประมาณร้อยละ 70 - 80 ของช่อดอกทั้งหมด โดยใช้มีดคม ๆ ตัดที่โคนต้นเหนือดิน 2 - 3 นิ้ว พร้อมนำดอกลงแช่น้ำสะอาดในถังหรืออุปกรณ์ที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นให้ตัดใบเหลือเฉพาะใบส่วนบริเวณปลายยอด 3 - 4 ใบ หากก้านดอกยาวให้ตัดทิ้งเหลือประมาณ 80-100 ซม. สำหรับดอกขนาดใหญ่ และดอกขนาดกลาง ส่วนดอกขนาดเล็กให้ตัดก้านดอกยาว 50-80 ซม. ทำการมัดรวมเป็นกำๆ ตามเหมาะสม
โพสต์โดย : POK@