ชี้ กต.พร้อมประสานให้บินผ่านน่านฟ้า นายกฯ เผยแผนการอพยพคนไทยในอิสราเอล
“เศรษฐา”เผยแนวทางการอพยพคนไทยในอิสราเอล ขอสายการบินเอกชนร่วมด้วยช่วยกันพาคนไทยกลับประเทศ ชี้ กต.พร้อมประสานให้บินผ่านน่านฟ้า
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ครั้งที่ 5/2566
โดยมีผู้ร่วมประชุมได้แก่ พรรณภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ, นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ,นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ และตัวแทนของกรมข่าวทหารบก กองบัญชาการกองทัพไทย และกรมต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมหลังจากที่ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่าง รัฐอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ดำเนินมาแล้ว 6 วัน โดยมีวาระในการหารือ ได้แก่ อัพเดทข้อมูลสถานการณ์ทั้งหมดในรัฐอิสราเอล รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และผู้ที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน
อีกทั้งแนวทางการอพยพคนไทยในครั้งต่อๆ ไป หลังจากที่วันนี้ (12 ต.ค.) เป็นการอพยพครั้งแรก ตลอดจนการดูแล และดำเนินการกับผู้ที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน
ภายหลังการร่วมประชุม นายเศรษฐา กล่าวแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และชาวไทยที่อยู่ในพื้นที่อันตรายแสดงเจตจำนงในการขออพยพมาเกือบ 6,000 ราย ซึ่งขณะนี้มีเที่ยวบินเที่ยวแรกมาแล้ว โดยทางรัฐบาลยังมีความเป็นห่วงเป็นใย และมีหลายเรื่องที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะการบินเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางกองทัพอากาศเพื่อที่จะนำเครื่องบิน C-130 และแอร์บัส A-340 บินเข้าไปในพื้นที่เพื่ออพยพคนไทยกลับมาจำนวน 140 คน โดยจะออกจากประเทศไทยในวันที่ 14 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม การลำเลียงคนไทยกลับมาในวันนี้ได้เพียง 20 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก จึงได้หารือร่วมกับที่ประชุมว่า ให้เตรียมเครื่องบินให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ และยังมีเครื่องบินพาณิชย์จากสายการบินนกแอร์ 2 ลำ แอร์เอเชีย 2 ลำ ส่วนสายการบินไทยนั้นจะให้คำตอบในวันพรุ่งนี้
โดยจะเป็นการบินพิเศษผ่านน่านฟ้า 4
ประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะใช้เวลาในการประสานเพื่อขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าภายใน 48 ชม. นอกจากนี้ท่านทูตประจำอิสราเอลยังแจ้งเพิ่มเติมมาว่า มีความพร้อมในการลำเลียงคนไทยออกจากจุดเสี่ยงได้วันละประมาณ 200 ราย
แต่นั่นเทียบได้เพียงหนึ่งเที่ยวบินเท่านั้น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนในการอพยพออกมาทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องคิดวิธีทำให้เร็วขึ้น ส่วนบางคนที่ติดปัญหาเรื่องเอกสาร เช่น หนังสือขออนุญาตเดินทางระหว่างประเทศหล่นหายนั้น ถือว่าเป็นเรื่องรอง เพราะต้องเอาเรื่องความปลอดภัยสูงสุดเป็นเรื่องสำคัญ
นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังได้รับคำแนะนำจาก ปานปรีย์ โดยให้อพยพชาวไทยไปยังประเทศที่สามในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเรื่องนี้กำลังพิจารณาอยู่ แต่คงสร้างความยาก และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการทูตที่ต้องพิจารณา เพราะในแง่ของเอกสารรายบุคคล หากไม่มีเอกสารแล้ว จึงมีความกังวลว่า ประเทศปลายทางเหล่านั้นจะให้เข้าประเทศหรือไม่ ส่วนเรื่องการอพยพทางเรือจะต้องผ่านบริเวณฉนวนกาซ่า จึงยังไม่สามารถทำได้
“ขอวิงวอนสายการบินเอกชนหากช่วยได้ ก็มาร่วมด้วยช่วยกัน ทางกระทรวงการต่างประเทศพร้อมประสานให้บินผ่านน่านฟ้า ยืนยันว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ดีขึ้น และรัฐบาลมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้” นายเศรษฐา กล่าว
ส่วนการเจรจากับทางปาเลสไตน์ให้ปล่อยตัวประกันชาวไทยนั้น นายเศรษฐา ย้ำว่า ได้มีการเจรจาในทุกช่องทางที่สามารถเป็นไปได้ เป็นเรื่องของความมั่นคง ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด แต่ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ถึงแม้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจะค่อนข้างสูง แต่เราก็จะพยายามทำให้เรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
เมื่อถามว่า การบินไทยติดเรื่องอะไร นายเศรษฐา กล่าวว่า การบินไทยติดขัดเรื่องเอกสาร และการประกันเครื่องบิน รวมถึงไม่มีเที่ยวบินไปยังกรุงเทลอาวีฟ โดยมองว่า อาจจะให้บินไปประเทศใกล้เคียง แล้วรอรับช่วงต่อออกมา และเชื่อว่า การบินไทยก็ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน และทุกฝ่ายก็ทำงานกันอย่างเต็มที่
สำหรับการเพิ่มเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่นั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า หน้าที่หลักคือช่วยคนไทยออกมาเร็วที่สุด เพราะถนนหลายสายถูกปิด จึงต้องมีการเชื่อต่อกับหน่วยงานความมั่นคง โดยทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ทำงานอย่างเต็มที่
ขณะที่การลำเลียงศพผู้เสียชีวิตชาวไทยกลับมาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอย่างเต็มที่ และทูตประจำรัฐอิสราเอลได้กดดันไปยังทางการอิสราเอล แต่ยังติดขัดเรื่องการระบุตัวตน และการชันสูตรพลิกศพ เพราะหากมีการสูญเสียจากภาวะสงคราม ทางการอิสราเอลจะมีเงินชดเชยให้ แต่หากนำศพกลับมาก่อนจะไม่มีหลักฐานเพื่อไปขอรับการเยียวยาตรงส่วนนั้น ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศจึงต้องดูให้ครบทุกมิติ
ส่วนการพูดคุยกับทางเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ในประเด็นหลักคงเป็นการย้ำถึงความเข้าใจว่า เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่เรามีการสูญเสียสูงสุด จึงจะมีการเจรจาให้ช่วยลำเลียงคนออกมาอยู่ในสถานที่ปลอดภัย และประเทศที่สามโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่า ความลำบาก และการสูญเสียที่รุนแรง เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ส่วนได้มีการประสานกับทางสายการบินแห่งชาติอิสราเอลซึ่งมีระบบป้องกันขีปนาวุธ เพื่อลำเลียงคนไทยไปยังประเทศที่ไม่อันตราย เศรษฐา กล่าวว่า เบื้องต้นได้มีการหารือกันในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เราภาวนาคือ การไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่านี้
ส่วนเรื่องมีการร้องเรียนมาว่า แรงงานไทยในพื้นที่สีแดงถูกบังคับจากนายจ้างให้ทำงานท่ามกลางภัยสงคราม นายเศรษฐา มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ต้องให้ความช่วยเหลือ และจะมีการพูดคุยกับทางทูตอิสราเอล พร้อมย้ำว่า เรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ยืนยันว่า การอพยพคนไทยออกมาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้ตัวเลขการสูญเสียจะมากที่สุดเช่นกันก็ตาม
ขอบขอบคุณข้อมูลจาก:innnews
โพสต์โดย : monnyboy