เปิดใจ ‘ดร.สุภาภรณ์’ ผู้พบ ‘ไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่’
เปิดใจ ‘ดร.สุภาภรณ์’ ผู้พบ ‘ไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่’
เบื้องหลังการทำงานของผู้คนในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขไทย ณ วินาทีนี้ คงต้องยอบรับแต่โดยดีว่า พวกเขาทำงานกันอย่างหนักหน่วง อดหลับอดนอน ไม่มีวันหยุด เพื่อความผาสุก และปกป้องไว้ซึ่งสุขภาพกายอันดีของคนไทย ไม่ต่างอะไรจากผู้ปิดทองหลังพระ
ล่าสุด "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสพูดคุยกับดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้ค้นพบ "เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่" ก่อนที่จะมีการประกาศจากทางการจีน
ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ ในฐานะทีมผู้ตรวจพบ และยืนยันเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังระบาดในขณะนี้ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ถึงเบื้องหลังการค้นพบครั้งนี้ว่า "จากการที่เราพยายามตรวจสอบภายในห้องปฏิบัติการ จึงทำให้เราสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากจีน และเมื่อเราสามารถตรวจพบได้แล้ว เราได้เฝ้ารอให้ทางการจีนประกาศอย่างเป็นทางการ เพื่อยืนยันอีกครั้งว่า เชื้อที่พบเป็นเชื้อตัวเดียวกันหรือไม่ ซึ่งผลออกมาพบว่า ผลลัพธ์ที่เราพบก่อนหน้านี้ ตรงกันกับที่ทางการจีนประกาศ 100%"
ดร.ทน พญ.สุภาภรณ์ กล่าวไล่เรียงตามไทม์ไลน์เวลาที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
31 ธันวาคม 2562 มีรายงานเป็นครั้งแรกว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
3 มกราคม 2563 ประเทศไทย เริ่มดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น
8 มกราคม 2563 กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยรายหนึ่ง ที่สนามบินสุวรรณภูมิผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากอู่ฮั่น มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีความเสี่ยงว่า จะป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ในวันเดียวกันนี้ นายแพทย์ชำนาญการของกรมควบคุมโรค ได้ส่งผู้ป่วยรายนี้ไปสถาบันบําราศนราดูร และได้ส่งตัวอย่างเสมหะ น้ำลายบริเวณคอ น้ำมูกในจมูกของผู้ป่วย มาที่ศูนย์ของเรา (ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่) และทีมของเราก็พบว่า นี่คือไวรัสตัวใหม่ที่ไม่เคยเจอในประเทศไทย และเมื่อนำเชื้อไปถอดรหัสพันธุกรรม จึงได้พบว่า 1. ไม่ใช่ไวรัสที่เจอในคน 2. เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เจอในค้างคาว และเราสรุปได้ว่า "เป็นเชื้อโคโรนา แต่ไม่ทราบว่าสายพันธุ์อะไร"
ทางการจีนยังไม่ได้ออกมาประกาศว่า พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ได้ประกาศว่า มีการแพร่ระบาดของ "โรคปอดอักเสบลึกลับ"
9 มกราคม 2563 ทางทีมได้นำเชื้อดังกล่าวไปถอดรหัสพันธุกรรม จนพบว่า สารพันธุกรรมนี้เป็นเชื้อไวรัสอยู่ในค้างคาว โดย
ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า "ตอนแรกเราก็ยังงงๆ กันอยู่ว่า ทำไมเชื้อไวรัสในผู้ป่วยถึงหน้าตาเหมือนเชื้อไวรัสในค้างคาว และเมื่อเราพบแล้ว แต่เราก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะทางการจีนยังไม่ได้ประกาศแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับโรคนี้ออกมา"
11 มกราคม 2563 ทางการจีนประกาศว่า "พบเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้ป่วยที่ป่วยด้วย "โรคปอดอักเสบลึกลับ" พร้อมระบุถึงลักษณะ และรายละเอียดของเชื้อดังกล่าว จากนั้น ทีมของเราก็รีบนำรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยที่เราทำการตรวจสอบไว้แล้วไปเปรียบเทียบ จนพบว่า เหมือนกัน 100% ทางทีมจึงรีบรายงานผลให้ผู้ใหญ่ทราบทันที" ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ กล่าว
หมายเหตุ : ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ ระบุว่า ในกรณีนี้คาดว่า ทางการจีนสามารถตรวจพบเชื้อได้เป็นเวลาระยะหนึ่งแล้ว แต่เหตุที่ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเป็นประเทศขนาดใหญ่ การแพร่ระบาดของโรคเป็นวงกว้าง และต้องมีการตรวจทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน
“เวลาที่เราพบเชื้อใหม่ๆ จะต้องมี 2 ห้องปฏิบัติการ คอนเฟิร์มผลซึ่งกันและกัน นั่นก็คือห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบว่าข้อมูลตรงกัน เป็นเชื้อตัวเดียวกัน ทางการไทยก็จะประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ ประเทศไทยเป็นประเทศแรก (ไม่นับประเทศจีน) ที่ประกาศว่า พบคนไข้ก่อน”
13 มกราคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นรายแรกของประเทศไทย และเป็นรายแรกที่ตรวจพบนอกประเทศจีน
เมื่อถามว่า หากมีคนไทย หรือชาวบ้านนำค้างคาวมาทำเป็นอาหาร จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ ให้คำตอบว่า “เราทำวิจัยเรื่องค้างคาวมาเกือบ 20 ปีแล้ว คงจะบอกได้ว่า หากคนไทยกินค้างคาว และดันไปเจอค้างคาวที่มีเชื้อที่สามารถติดต่อไปสู่คนได้ คนไทยก็มีโอกาสติดเชื้อใหม่ๆ ได้”
ส่วนเรื่องที่ว่าล่าสุดมียารักษา หรือยาป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วหรือยังนั้น ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ ให้คำตอบว่า"ยังค่ะ แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน แม้จะยังไม่มียารักษา ร่างกายก็จะสามารถฟื้นตัวได้เอง และหายจากโรคนี้ได้ในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยสูงอายุชาวจีน 2 คน วัย 74 ปี และ 61 ปีที่พบในไทย เราก็สามารถรักษาให้หาย และส่งกลับประเทศได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการรักษาก็ใช้วิธีเดียวกันกับการรักษาไข้หวัดใหญ่"
"เราเป็นนักเทคนิคการแพทย์ และทำงานวิจัยเกี่ยวกับค้างคาว และโรคอุบัติใหม่ แต่อาชีพเราก็ไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก แม้จะเป็นอาชีพที่มีมานานแล้ว แต่เมื่อถึงเวลา อาชีพของเราก็สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ผ่านมามาไขคำตอบในโจทย์ต่างๆได้ โดยทำให้เราค้นพบโรคได้ก่อน และให้ข้อมูลแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที" ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ ทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูล- The Bangkok Insight
โพสต์โดย : Ao