ทำความเข้าใจ "โรคจากสัตว์สู่คน" แนะ เลิกรับประทานเมนูสัตว์ป่าแปลกๆ หรือสัมผัสโดยไม่จำเป็น
ทำความเข้าใจ "โรคจากสัตว์สู่คน" แนะ เลิกรับประทานเมนูสัตว์ป่าแปลกๆ หรือสัมผัสโดยไม่จำเป็น
เพจ "Spartan Doctor" โพสต์ข้อความอธิบาย “การติดต่อเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน” ให้เข้าใจโดยง่าย หลังไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ระบาดหนักในประเทศจีน แนะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า หรือลองเมนูสัตว์ป่าแปลกๆ
จากสถานการณ์โรคระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นห้ามผู้คนเดินทางออกนอกเมือง และในประเทศไทยพบผู้ที่ติดเชื้อรายที่ 6 ในอำเภอหัวหิน โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบเฝ้าระวังและสนามบิน ทุกเที่ยวบินมีมาตรการตรวจสอบคัดกรองอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เพจ "Spartan Doctor" ได้ออกมาโพสต์ข้อความสมมุติฐานการติดต่อเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน เพื่อให้ได้เห็นภาพและตระหนักในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นโดยได้ระบุข้อความอธิบายไว้ว่า
"ปกติเชื้อโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น กลุ่ม Corona virus , Ebola virus จะมีการติดต่อวนเวียนกันในประชากรสัตว์ป่าอยู่แล้ว ดังซ้ายมือของแผนภาพ ไม่ค่อยมาถึงมนุษย์เท่าไหร่ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เมืองแยกออกมาจากป่าชัดเจน
นอกจากนี้สัตว์แบบปศุสัตว์ที่รายล้อมรอบสังคมมนุษย์ก็เป็นเสมือนด่านป้องกันมนุษยชาติจากเชื้อโรคจากป่าได้ดีระดับนึง ดังภาพ เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงขึ้นมาในระบบปิดของมนุษย์ ไม่ได้ไปคลุกคลีกับสัตว์ในป่า รอบๆตัวเราเลยห้อมล้อมด้วยสัตว์ที่ไร้เชื้อโรคร้ายแรงจากป่า
อย่างไรก็ดีการ “หก หรือ ล้น ใส่ “ ( Spill over ) ข้ามฝั่งจากวงจรสัตว์ป่าเข้ามาในสังคมมนุษย์ ก็อาจเกิดขึ้นได้ถ้ามีปัจจัยที่เหมาะสม เช่นจำนวนสัตว์ป่าที่ป่วยด้วยโรคเยอะมากพอ และความใกล้ป่าของสังคมมนุษย์ ( เช่น ในเขตชนบทของแอฟริกา
นอกบ้านนอกฟาร์มคือป่า ) ก็อาจเกิดเหตุการณ์หกข้ามของเชื้อโรคเข้ามาในหมู่ปศุสัตว์ เช่น ค้างคาวป่าป่วยมากัดวัว นกป่าป่วยมาสัมผัสเป็ดไก่ หนูหรือแรคคูนป่วยมากัดสัตว์ในฟาร์มหรือมาขี้ใส่ฟาร์ม หรือผ่านพาหะตัวกลาง ( Vector ) ในรูปเล็กเช่น ยุง เห็บ หมัด
เมื่อสัตว์ในปศุสัตว์ติดโรคจากสัตว์ป่าและป่วยจำนวนมากขึ้นๆ ก็จะมีโอกาสที่เกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนของสัตว์ เช่น คนชำแหละเนื้อสัตว์จะได้รับเชื้อมาและแพร่ต่อเข้าไปในสังคมมนุษย์ เช่น กรณีไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้, ไข้หวัดใหญ่ Swine flu จากฟาร์มหมู , ไข้ MERS-CoV จากอูฐที่เลี้ยงไว้ เป็นต้น
คราวนี้บางทีมีการ “หกใส่” ของเชื้อโรคจากสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์โดยตรงบ้างแม้จะไม่พบบ่อย
เช่น กลุ่มคนไปเที่ยวในป่า ไปล่าสัตว์ หรือบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ป่า แล้วได้รับเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ป่าโดยตรงก็มีบ้าง
“ตลาดเนื้อสัตว์ป่า” และเมนูสัตว์ป่าเปิบพิสดารแบบที่เห็นในข่าวของประเทศจีน ก็เป็นหนึ่งในตัวที่ทำให้เกิดการโดดข้ามจากสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์โดยตรงโดยไม่ผ่านกำแพงปศุสัตว์ได้ หากควบคุมคุณภาพเนื้อสัตว์ได้ไม่ดี ประกอบอาหารไม่ดี หรือใช้เนื้อสัตว์แปลกพิสดารมากมาทำอาหาร
เช่น ค้างคาวนี่เป็นหนึ่งในสัตว์ที่อุดมไปด้วยเชื้อโรคมหาศาลทั้งไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต ไม่แพ้หนูเลย - ถ้าถอดปีกออกมันก็คือ หนูดีๆนี่เอง เอาหนูมากินทำไม อีโบลาที่ระบาดส่วนนึงก็มาจากเมนูค้างคาวป่าในแอฟริกาเช่นกัน
บทความอ่านเล่นนี้จึงเอามาช่วยให้เราเข้าใจและเตือนใจในการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ( เช่น อยู่ในกรงตามตลาด ) หรือลองเมนูสัตว์ป่าแปลกๆเวลาไปเที่ยวต่างประเทศอะไรแบบนี้ถ้าไม่จำเป็นครับ"
ขอขอบคุณข้อมูล- Manager Online Reporter
โพสต์โดย : Ao